ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ นำทีมผู้แทนไทย เข้าร่วมประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการแปรสภาพเป็นทะเลทรายสมัยที่ 16 (UNCCD COP 16)

วันที่ 6 ธันวาคม 2567 ดร.รวีวรรณ ภูริเดช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ซึ่งประกอบด้วย กรมพัฒนาที่ดิน ในฐานะหน่วยประสานงานหลักของประเทศ (National Focal Point) กรมฝนหลวงและการบินเกษตร สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ และกรมองค์การระหว่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการแปรสภาพเป็นทะเลทราย สมัยที่ 16 (UNCCD COP 16) ณ Boulevard Hall Parking กรุงริยาด ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่  2 – 13 ธันวาคม 2567

UNCCD เป็นหนึ่งในอนุสัญญาฯ ด้านสิ่งแวดล้อมภายใต้สหประชาชาติ อันประกอบด้วยด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และด้านการต่อต้านการแปรสภาพเป็นทะเลทราย โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความร่วมมือระดับโลกเพื่อต่อสู้กับปัญหาการแปรสภาพเป็นทะเลทราย ความเสื่อมโทรมของที่ดิน และภัยแล้ง ที่นับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การขยายตัวของเมือง และการใช้ประโยขน์ที่ดินที่ไม่ยั่งยืน โดยการประชุม UNCCD COP 16 จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “Our Land. Our Future” โดยเป็นการประชุมครั้งที่มีผู้เข้าร่วมมากที่สุดจาก 197 ประเทศ เพื่อร่วมฉลองโอกาสครบรอบ 30 ปี ของอนุสัญญานี้

การประชุม UNCCD COP 16 ประกอบด้วยการประชุมระดับสูง (High level segment) เพื่อหารือปัญหาและแนวทางความร่วมมือใน 3 ประเด็นสำคัญ คือ (1) การย้ายถิ่นฐานอันเนื่องมาจากที่ดินเสื่อมโทรมและภัยแล้งที่พบว่ามีประชากรกว่า 120 ล้านคนทั่วโลกได้รับผลกระทบในเรื่องนี้  (2) ผลกระทบจากภัยแล้งที่ทวีความรุนแรงและส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ เศรษฐกิจ และชุมชน และ (3) การยกระดับทางการเงินเพื่อฟื้นฟูที่ดินและสร้างภูมิคุ้มกันต่อภัยแล้ง มีการหารือทางเทคนิคในประเด็นด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ตลอดจนเครื่องมือและกลไกขับเคลื่อนการดำเนินงานภายใต้อนุสัญญา นอกจากนั้น ในปีนี้ ยังมีความพิเศษเนื่องจากซาอุดีอาระเบียได้จัดให้มีหัวข้อพิเศษที่เน้นการดำเนินงานของภาคส่วนต่าง ๆ เกี่ยวกับที่ดิน ระบบอาหาร-เกษตร ธรรมาภิบาล ชุมชน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม การมีภูมิคุ้มกัน และการเงิน

ในการประชุมครั้งนี้ ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการแสวงหาแนวทาง กลไกความร่วมมือและสร้างการมีส่วนร่วมทั้งในระดับระหว่างประเทศ ภูมิภาค และอนุภูมิภาคเพื่อป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากความเสื่อมโทรมของดินและภัยแล้ง  เพื่อลดความสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ รักษาความมั่นคงทางอาหาร ตลอดจนส่งเสริมและพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน โดยเฉพาะเกษตรกรให้มีองค์ความรู้และศักยภาพในการรับมือกับปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากข้อมูลจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ระบุว่าประเทศไทยมีปัญหาที่ดินเสื่อมโทรมคิดเป็นร้อยละ 21 ของพื้นที่ทั้งหมด และปัญหานี้จะทวีความรุนแรงไปเรื่อย ๆ หากไม่มีการกำหนดนโยบายและมาตรการที่เหมาะสม ซึ่งในการประชุมให้ความสำคัญกับการดำเนินงานตามแนวคิดความสมดุลของการจัดการทรัพยากรที่ดิน (Land Degradation Neutrality: LDN) ในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะเป้าหมายที่ 15.3 ต่อต้านการกลายสภาพเป็นทะเลทราย ฟื้นฟูที่ดินและดินที่เสื่อมโทรม รวมถึงที่ดินที่ได้รับผลกระทบจากการกลายสภาพเป็นทะเลทราย ภัยแล้ง และอุทกภัย และพยายามที่จะบรรลุถึงความสมดุลของการจัดการทรัพยากรที่ดิน ภายในปี พ.ศ. 2573