ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานพิธีปิดโครงการเสริมสร้างวินัยทางการเงินภาคครัวเรือนขับเคลื่อนชุมชนเข้มแข็ง เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 (กิจกรรมเปิดกระปุกออมสิน) จัดโดยกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ โดยร่วมเปิดกระปุกออมสิน นับยอดเงินออมผ่านระบบออนไลน์แบบเรียลไทม์พร้อมกันทั่วประเทศ ชูสร้างวินัยการเงินภาคครัวเรือน กระตุ้นให้เกิดการออม
ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายสำคัญในการยกระดับรายได้ของเกษตรกร โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมการสร้างอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ อีกทั้งส่งเสริมการเพิ่มความรู้ทางการเงินการบัญชี และส่งเสริมการออมในรูปแบบใหม่ ๆ ที่สอดรับกับวิถีชีวิตของคนไทย ซึ่งดำเนินงานภายใต้ หลักการ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” ด้วยการลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิต สร้างมูลค่าเพิ่ม ส่งเสริมการบริหารจัดการแบบแปลงใหญ่ ด้วยเกษตรสมัยใหม่ เกษตรแม่นยำ ตลอดจนการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการเพิ่มผลผลิตและแก้ไขภาคการเกษตร ขับเคลื่อนงานผ่านหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มุ่งให้เกิดผลสัมฤทธิ์ที่เป็นรูปธรรม จึงมอบนโยบายให้กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ดำเนินงานขับเคลื่อนการนำระบบบัญชีไปวางรากฐานในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร อีกทั้งเสริมองค์ความรู้ให้ภาคประชาชน สามารถนำบัญชีไปใช้วางรากฐานของชีวิต เสริมสร้างภูมิคุ้มกันและความสมดุลในการดำรงชีวิต และกระตุ้นให้เกิดการออม ซึ่งการสร้างวินัยทางการเงินให้กับประชาชนและครัวเรือน ถือเป็นแนวทางสำคัญที่จะสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวให้ประสบผลสำเร็จเป็นรูปธรรมได้อย่างดียิ่ง
สำหรับกิจกรรมในวันนี้ เป็นการสรุปผลการดำเนินกิจกรรมที่กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ได้ขับเคลื่อนการเสริมสร้างวินัยทางการเงิน ส่งเสริมการออมไปสู่ประชาชนทั่วประเทศ ภายใต้โครงการเสริมสร้างวินัยทางการเงินภาคครัวเรือน ขับเคลื่อนชุมชนเข้มแข็ง เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ซึ่งเป็นโครงการที่ประชาชน สามารถนำความรู้จากกิจกรรมส่งเสริมการออม ไปสร้างวินัยทางการเงินที่ดีให้กับตนเองและในครัวเรือนได้ อีกทั้ง การดำเนินกิจกรรมเสริมสัมพันธ์ ยังช่วยให้ประชาชนในชุมชน มีความรักใคร่สามัคคี ร่วมกันทำนุบำรุงชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ทำให้เห็นถึงทิศทางที่จะทำให้ชุมชนเข้มแข็งได้อย่างเป็นรูปธรรม
“นอกจากที่กระทรวงเกษตรฯ จะมุ่งเน้นยกระดับรายได้เกษตรกรแล้วนั้น ยังคงมุ่งส่งเสริมองค์ความรู้ในเรื่องการลดต้นทุน ควบคู่กับการวางแผนและบริหารจัดการด้านการเงินที่เหมาะสม เพื่อสร้างวินัยในการออม และแก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือนจากต้นทาง ซึ่งได้มอบหมายกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ดำเนินการสานต่อโครงการดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมการนำระบบบัญชีไปวางรากฐานในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร อีกทั้งเสริมองค์ความรู้ให้ภาคประชาชน สามารถนำบัญชีไปใช้วางรากฐานของชีวิต เสริมสร้างภูมิคุ้มกันและความสมดุลในการดำรงชีวิตและกระตุ้นให้เกิดการออมอย่างเป็นรูปธรรม” รมว.กษ. กล่าว
ด้านนายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กล่าวว่า โครงการดังกล่าว เป็นการดำเนินกิจกรรมสร้างความสามัคคีให้แก่ประชาชนในชุมชน ตามแนวคิด “บวร” (บ้าน-ชุมชน/วัด-ศาสนาสถาน/โรงเรียน-ส่วนราชการ) มุ่งเน้นการสร้างวินัยทางเงินภาคครัวเรือน ส่งเสริมการออม โดยมีการ Kick Off เปิดโครงการดังกล่าว เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2567 และมีการจัดทำกระปุกออมสิน จำนวน 10,000 กระปุก แจกให้ผู้เข้าร่วมโครงการ 89 ชุมชน ใน 77 จังหวัด และบุคลากรกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ได้ร่วมกิจกรรมฝึกการออม อย่างน้อยวันละ 10 บาท ผลการดำเนินการภายใต้โครงการ มีประชาชนในชุมชนและบุคลากรกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เข้าร่วมกิจกรรม รวม 10,473 ราย 89 ชุมชน ใน 77 จังหวัด ประกอบด้วย
1. กิจกรรมส่งเสริมการออมและฝึกอาชีพเสริมรายได้ ประกอบด้วย กิจกรรมสอนแนะการจัดทำบัญชีรับ – จ่ายในครัวเรือน สอนแนะการจัดทำบัญชี ผ่านสมุดบัญชีและ Smart Phone จำนวน 7,797 ราย กิจกรรมฝึกอาชีพเสริมรายได้สร้างเงินออม เช่น กิจกรรมสอนการทำอาหาร/แปรรูปอาหาร งานหัตถกรรม การทำผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด แนะนำการขายของออนไลน์ เป็นต้น จำนวน 7,445 ราย
2. กิจกรรมเสริมสัมพันธ์ ที่บุคลากรกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ร่วมทำกับชุมชน ประกอบด้วย กิจกรรมเทิดทูนสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ จำนวน 400 ครั้ง รวม 10,892 ราย กิจกรรมอาสา/สาธารณประโยชน์ เนื่องในโอกาสวันสำคัญต่าง ๆ จำนวน 275 ครั้ง รวม 10,313 ราย และ กิจกรรมส่งเสริมวัฒนธรรม จำนวน 140 ครั้ง รวม 6,647 ราย
“กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ พร้อมผลักดันการวางแผนบัญชีครัวเรือนอย่างเป็นระบบ และการบริหารจัดการต้นทุนการผลิตให้เกิดความคุ้มค่าสูงสุด เพื่อการเพิ่มรายได้เกษตรกรอย่างเป็นรูปธรรมตามนโยบาย “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” อีกทั้ง เพื่อเพิ่มความเข้มแข็งครัวเรือนและแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอีกด้วย” อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กล่าว
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว สร้างให้เกิดเงินออมในครัวเรือนทั่วประเทศ รวมจำนวน 21,380,751 บาท