รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยความสำเร็จโครงการ “คนไทยห่างไกล NCDs” ให้ความรู้ครอบคลุมทุกเขตสุขภาพ มีผู้เรียนรู้การนับคาร์บรวมกว่า 7.64 ล้านคน เตรียมผลักดันเป็นวาระแห่งชาติ พร้อมเตรียม Kick off ฉีดวัคซีน HPV 9 สายพันธุ์ ในเด็กนักเรียนหญิงชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 เพื่อลดการป่วยมะเร็งปากมดลูกในหญิงไทย ตามนโยบายมะเร็งครบวงจร
วันที่ 6 ธันวาคม 2567 ที่ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุข ครั้งที่ 11/2567 โดยมี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขเข้าร่วม
โดยก่อนการประชุมมีพิธีลงนามคำรับรองปฏิบัติราชการของผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ประจำปีงบประมาณ 2568 ระหว่าง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข อธิการบดีสถาบันพระบรมราชชนก อธิบดีทุกกรม และเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เพื่อถ่ายทอดตัวชี้วัด แผนยุทธศาสตร์ การดำเนินการ และการกำกับติดตามการปฏิบัติราชการสำเร็จตามเป้าหมาย “ยกระดับการสาธารณสุขไทยสุขภาพแข็งแรงทุกวัย เศรษฐกิจสุขภาพไทยมั่นคง”
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2568 กระทรวงสาธารณสุข จะเร่งรัดการให้บริการวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัส HPV ตามนโยบายมะเร็งครบวงจร ซึ่งได้มีการจัดหาวัคซีนร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นวัคซีนชนิด 2 หรือ 4 สายพันธุ์ จำนวน 400,000 โดส และชนิด 9 สายพันธุ์ จำนวน 673,500 โดส เพื่อจัดสรรวัคซีนตามกลุ่มเป้าหมาย ดังนี้ 1.หญิงอายุ 11 – 20 ปี ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 แล้ว กำหนดให้วัคซีน HPV ชนิด 2 หรือ 4 สายพันธุ์ ฉีดเป็นเข็มที่ 2 ซึ่งได้จัดส่งให้ทุกจังหวัดเรียบร้อยแล้ว 2.นักเรียน ป.5 ปีการศึกษา 2567 กำหนดให้วัคซีน HPV 9 สายพันธุ์ จำนวน 1 เข็ม 3.หญิงอายุ 11-20 ปี นอกเหนือจากกลุ่ม ป.5 ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน กำหนดให้วัคซีน HPV 9 สายพันธุ์ จำนวน 1 เข็ม ทั้งนี้ ได้วางแผน Kick off ฉีดวัคซีน HPV 9 สายพันธุ์ ในเด็กนักเรียนหญิง ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ใน 5 ภาคทั่วประเทศ โดยเริ่มครั้งแรก ที่ รร.วัดเขียนเขต จ.ปทุมธานี ในที่ 20 ธันวาคม 2567 นี้
นายสมศักดิ์กล่าวต่อว่า สำหรับสถานการณ์ PM 2.5 ที่กำลังมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ได้มีการเพิ่มคลินิกมลพิษในโรงพยาบาล ให้บริการเฉพาะแยกจากคลินิกโรคอื่นๆ โดยเน้นผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง กลุ่มเปราะบางในพื้นที่เสี่ยง PM2.5 พร้อมทั้งเพิ่มการนัดหมายออนไลน์เพื่อเข้ารับบริการผ่านแอปพลิเคชั่นหมอพร้อม นำร่องใน 4 เขตสุขภาพที่มีสถาการณ์ PM 2.5 ในปีที่ผ่านมาสูง รวม 25 จังหวัด พร้อมขยายทั่วประเทศตามสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในแต่ละพื้นที่ ส่วนการจัดกิจกรรมการขับเคลื่อนนโยบายคนไทยห่างไกลโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ที่ดำเนินการครอบคลุมทั้ง 12 เขตสุขภาพ และในระดับจังหวัดที่เชียงราย มีผู้เรียนรู้การนับคาร์บแล้ว 7,644,615 คน แบ่งเป็น อสม. 948,216 และ ประชาชน 6,696,399 คน โดยได้เตรียมผลักดันนโยบายคนไทยห่างไกล NCDs ให้เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อการมีส่วนร่วมของกระทรวงและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป