การวางแผนดูแลตนเองระยะท้าย และความจำเป็นของการทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต หรือยุติการทรมานจากการเจ็บป่วย ซึ่งรู้จักกันในชื่อว่า “พินัยกรรมชีวิต” (Living Will) คือประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงอีกครั้งในเวทีเสวนา “นวัตกรรมสร้างสุขที่ปลายทาง รองรับ Thailand 4.0” ในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 17 พ.ศ. 2567 ที่จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายยุทธศาสตร์ ระหว่างวันที่ 27-28 พ.ย. 2567 ณ อาคารอิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี ภายใต้ธีม “เศรษฐกิจยุคใหม่ สร้างสุขภาวะไทยยั่งยืน”
เพราะแม้ความตาย และการกำหนดวาระสุดท้ายของชีวิตด้วยการแสดงเจตนาดังกล่าว จะได้รับการพูดถึงมากขึ้นในสังคมไทย แต่ปัจจัยพื้นฐานหลายอย่างเพื่อให้สิ่งนี้เกิดขึ้นได้ตามความต้องการของผู้ทำหนังสือLiving Will ก็ยังคงมีความท้าทายอยู่ในปัจจุบัน
เวทีเสวนาเริ่มต้นโดย ศ.ดร.นพ.อิศรางค์ นุชประยูร ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการเยือนเย็น วิสาหกิจเพื่อสังคม ที่สะท้อนให้เห็นภาพว่า การก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ของประเทศไทยมาพร้อมกับความท้าทายในการจัดระบบการดูแลผู้สูงอายุเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีในช่วงท้ายของชีวิตด้วยเช่นกัน เนื่องจากการเจ็บป่วยด้วยปัญหาสุขภาพตามช่วงวัยเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับผู้สูงอายุ อีกทั้งยังส่งผลให้ผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อย มักต้องเผชิญกับการวนเวียนเข้าและออกโรงพยาบาลจนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต
ขณะที่การต้องดำเนินชีวิตในระยะสุดท้ายไปในลักษณะนั้น อาจไม่ใช่สิ่งที่ผู้สูงอายุบางคนต้องการ เพราะไม่อยากต้องทนทุกข์ทรมานจากความเจ็บปวดต่อร่างกายก่อนจะจากไป แต่ต้องการได้รับการดูแลแบบประคับประคองอยู่ที่บ้าน โดยปราศจากการรักษาเพื่อยื้อชีวิต และการจะทำแบบตามความต้องการนี้ สิ่งหนึ่งที่ช่วยตอบสนองได้ก็คือ หนังสือ Living Will ที่เป็นสิทธิตามมาตรา 12 ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีสิ่งที่รองรับความต้องการดังกล่าวแต่จุดที่ยังท้าทายอยู่ และอาจท้าทายไปจนถึงอนาคตด้วย คือจะทำอย่างไรให้สังคมเข้าใจและเห็นความสำคัญของหนังสือ Living Will โดยเฉพาะทัศนคติเกี่ยวกับความตายของสมาชิกในครอบครัว ที่จำเป็นต้องพูดคุยกันให้เข้าใจ เพื่อไม่ให้การเลือกของสมาชิกในครอบครัวขัดกับเจตนาของผู้สูงอายุที่ทำหนังสือ Living Will
จากประสบการณ์ตรงของ มล.ศิริเฉลิม สวัสดิวัฒน์ ยืนยันถึงความสำคัญของการทำหนังสือเจตนาฯ และการทำความเข้าใจในครอบครัวได้เป็นอย่างดี โดยเล่าว่า จากการสูญเสียทั้งพ่อ และแม่ไปเมื่อราว 5 และ 7 ปีก่อนนั้น ซึ่งก่อนการเสียชีวิตของบุพการีทั้ง 2 คนมีได้มีกระบวนการเตรียมการที่แตกต่างกัน
“ฝั่งของแม่ ได้เขียนหนังสือแสดง Living Will เอาไว้ก่อนจะป่วย โดยระบุว่า หากป่วยระยะสุดท้ายและไม่สามารถสื่อสารหรือตอบสนองใดๆ รวมถึงอาการของโรคไม่สามารถรักษาได้หายขาด ขอให้อย่ารักษาเพียงเพื่อยื้อชีวิต แต่ให้ดูแลแบบประคับประคองจนกว่าจะเสียชีวิต และต่อมาได้ป่วยเป็นมะเร็ง ซึ่งแพทย์ก็ได้ให้การดูแลตามหนังสือ Living Will ที่แม่ได้เขียนเอาไว้ และแม่จากไปอย่างสงบในที่สุด” มล.ศิริเฉลิม กล่าว
มล.ศิริเฉลิม เล่าต่อไปว่า ขณะที่ผู้เป็นพ่อไม่ได้ทำพินัยกรรมชีวิต หรือแสดงเจตนาความต้องการใดๆ ในระยะสุดท้าย แต่ท้ายที่สุดเมื่อพ่อป่วยหนัก และได้รับการดูแลรักษามาตลอดกว่า 9 ปี จนมาถึงจุดที่ไม่สามารถสื่อสารได้ และอาการของโรคไม่ดีขึ้น สมาชิกในครอบครัวก็ตกลงกันว่า ไม่ควรยื้อชีวิตพ่อเอาไว้เพราะมีแต่จะทรมาน จึงได้ดำเนินการตามกระบวนการเพื่อให้พ่อจากไป
ปัจจุบันการทำ Living Will ยังมีช่องทางที่สะดวกมากขึ้นด้วย หลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ที่เป็นเจ้าภาพขับเคลื่อนเรื่องนี้ ได้พัฒนาระบบให้คนไทยทุกคนสามารถทำหนังสือ Living will แบบอิเล็กทรอนิกส์ (e – Living Will) ได้แล้ว ซึ่งอีกเป็นอีกหนึ่งแรงขับเน้นทำให้สิทธิด้านสุขภาพในประเด็นนี้ เริ่มเป็นที่พูดถึงกันมากขึ้นในวงกว้างด้วย
ภญ.เนตรนภิส สุชนวนิช ที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ หนึ่งในทีมที่พัฒนาการทำหนังสือ Living Will แบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e – Living Will กล่าวในเวทีเสวนาว่า ในปัจจุบันหนังสือ Living Will ที่ทำกันอยู่มีความกระจัดกระจาย และไม่มีการรวมศูนย์ข้อมูลเอาไว้ สช. จึงเข้ามาพัฒนาระบบการทำหนังสือ e – Living Will ที่เมื่อประชาชนเขียนหนังสือ Living WIll ก็จะจัดเก็บข้อมูลผ่านระบบคลาวด์ของรัฐที่มีความปลอดภัย และประชาชนยังสามารถเข้ามาแก้ไขได้ตลอดด้วย
ขณะเดียวกันหน่วยบริการที่ให้บริการดูแลประคับประคองทั้งของภาครัฐ ภาคประชาสังคม ที่ขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการในระบบสุขภาพ ก็สามารถเข้ามาดูข้อมูล หรือหนังสือแสดงเจตนาฯ ของประชาชนที่ได้ทำเอาไว้เพื่อให้บริการดูแลประคับประคองระยะท้าย และดูแลตามที่เจ้าของหนังสือแสดงเจตนาฯ ต้องการ
“จากการขับเคลื่อนหนังสือ e – Living Will กว่า 1 ปี ก็พบว่ามีประชาชนทำหนังสือแสดง Living Will มากถึง 1,927 คน โดยภาคประชาสังคมได้เข้ามามีส่วนร่วมในการรณรงค์ทำความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิมาตรา 12 ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติฯ ทำให้ประชาชนรับรู้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ภาครัฐสามารถกระตุ้นและสนับสนุนให้ประชาชนเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิการตายดี และการทำหนังสือ Living Will อาจมีสิทธิประโยชน์ทางสังคมให้เพิ่มเติม” ภญ.เนตรนภิส เผยข้อมูลที่น่าสนใจ พร้อมให้ความเห็น
ในช่วงท้าย นพ.ภิญโญ ศรีวีระชัย นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ ศูนย์บริรักษ์ โรงพยาบาลศิริราช ได้ชี้ว่า การสร้างความตระหนักรู้และเข้าใจเกี่ยวกับการดูแลระยะท้าย และสิทธิการตายดีตามมาตรา 12 ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติฯ ให้แพร่ไปในวงกว้าง ถือเป็นเรื่องสำคัญในยุคปัจจจุบัน ที่ประชาชนจะต้องรู้และตระหนักถึงการวางแผนเพื่อระยะสุดท้ายของชีวิตที่มีคุณภาพที่ดีสำหรับตัวเอง
นพ.ภิญโญ กล่าวว่า สังคมควรต้องถูกขับเคลื่อน และนำเอาองค์ความรู้ในเรื่องการวางแผนดูแลตนเองระยะท้าย และการทำหนังสือ Living Will กระจายไปในสังคม โดยเฉพาะเป้าหมายคนรุ่นใหม่ กลุ่มคนวัยทำงาน เพื่อให้การสื่อสารไปถึงกลุ่มคนเหล่านี้ ที่พวกเขาเองก็ต้องให้ความสำคัญกับการวางแผนดูแลตัวเองก่อนที่ระยะสุดท้ายของชีวิตจะมาถึง
เช่นที่ ศูนย์บริรักษ์ โรงพยาบาลศิริราช ดำเนินการในช่วงที่ผ่านมาอย่างการจัดพิมพ์หนังสือนิยายแนวสืบสวนชุด 2 เล่ม คือ มรณเวชกรรม และ การการุณยฆาต รวมถึงหนังสือที่สื่อถึงการเขียนหนังสือ Living Will เรื่อง โปรดคิดถึงผม ตลอดจนละครซีรีส์ ละครเวที และภาพยนตร์ ในการสื่อสารไปยังแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ
“การผลิตสื่อในรูปแบบเพื่อความบันเทิง แต่แฝงเนื้อหาเกี่ยวกับการดูแลระยะท้ายแบบประคับประคอง รวมถึงการทำหนังสือ Living Will และแนะนำประชาชนอย่างต่อเนื่อง เชื่อว่าจะเป็นอีกแรงขับเคลื่อนที่เข้ามาส่วนร่วมในการส่งเสริมให้ประชาชนได้เข้าใจ และตระหนักถึงการวางแผนดูแลตนเองเมื่อระยะสุดท้ายของชีวิตมาถึง และไม่จำเป็นต้องรอให้เป็นผู้สูงอายุ หรือป่วยก่อนแล้วค่อยวางแผน แต่ยังสามารถทำได้ และควรต้องทำตั้งแต่วัยหนุ่มสาว ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนตระหนักกับเรื่องนี้ได้มากขึ้น” นพ.ภิญโญ กล่าว