“รมว.นฤมล” เดินหน้าผลักดันโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินสมาชิกสหกรณ์ มุ่งแก้ไขปัญหาหนี้สิน ควบคู่ส่งเสริมอาชีพ หนุนสมาชิกมีรายได้อย่างยั่งยืน

กรมส่งเสริมสหกรณ์ ขานรับนโยบาย รมว.นฤมล เดินหน้าขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาหนี้ค้างชำระของสมาชิกสหกรณ์ และกลุ่มเกษตรกรที่ประสบปัญหาหนี้สิน ดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินและพัฒนาคุณภาพชีวิตสมาชิกสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรด้วยระบบสหกรณ์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรให้มีการบริหารจัดการสินเชื่อที่มีประสิทธิภาพ และส่งเสริมให้สมาชิกมีความสามารถในการบริหารจัดการหนี้ของตนเอง รวมทั้งเพื่อเสริมสร้างรายได้ให้แก่สมาชิก โดยตั้งเป้าแก้ไขปัญหาหนี้ค้างชำระของสมาชิกให้ลดลงได้ ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 10 ของมูลหนี้ค้างชำระ

นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า เรื่องการแก้ไขปัญหาหนี้สินให้กับสมาชิกสหกรณ์ ในปี 2567 ที่ผ่านมา หนี้ NPL ในภาพรวมของสหกรณ์ภาคการเกษตร สหกรณ์นอกภาคการเกษตร และกลุ่มเกษตรกร ลดลงไปถึง ร้อยละ 22.95 จากเป้าหมายที่เราวางไว้ ร้อยละ 10 ซึ่งเรื่องนี้ทำให้เกิดผลดีกับสหกรณ์หลายๆ แห่งที่สมาชิกประสบปัญหาในเรื่องของการประกอบอาชีพ และไม่สามารถชำระหนี้ได้ โดยทางกรมฯ มีทีมโค้ชที่จะลงไปในพื้นที่เพื่อจะช่วยดูแลสมาชิก ซึ่งในเรื่องการแก้ไขปัญหาหนี้ กรมฯ ไม่ได้เน้นเรื่องการติดตามทวงหนี้อย่างเดียว โดยได้เข้าไปดำเนินการในเรื่องการส่งเสริมอาชีพให้แก่สมาชิก โดยเฉพาะอาชีพระยะสั้น ไม่ว่าจะเป็นการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์เพื่อให้สมาชิกมีรายได้ โดยสนับสนุนเงินกองทุนดอกเบี้ยต่ำจากกองทุนพัฒนาสหกรณ์ให้แก่สหกรณ์ต่าง ๆ กู้ยืม นอกจากนี้ ยังสนับสนุนให้สหกรณ์ดำเนินการด้านการตลาดควบคู่ไปด้วย ซึ่งมีหลายสหกรณ์ที่มีการรวบรวมผลผลิตของสมาชิกนำมาจำหน่าย ทำให้สมาชิกมีรายได้รายวัน รายเดือน และรายปี สมาชิกสามารถนำเงินส่วนหนึ่งมาชำระหนี้ และอีกส่วนหนึ่งก็นำไปลงทุนต่อ
นอกจากนี้ แผนงานที่จะดำเนินการในปี 2568 ให้ยึดแนวทางของปี 2567 แต่สิ่งที่จะเพิ่มเติมเข้าไป คือ เรื่องการวางแผนทางการเงินให้สมาชิก โดยเฉพาะเรื่องการมีวินัยทางการเงิน เราจะกำกับดูแลตั้งแต่ต้น มีเจ้าหน้าที่ลงไปให้ความรู้ และถ้าสมาชิกประสบปัญหาในเรื่องต่างๆ กรมฯ จะช่วยดูในเรื่องการยืดเวลาชำระหนี้ หรือพักชำระหนี้ให้กับเกษตรกรเหล่านี้ และนำเรื่องการส่งเสริมอาชีพเข้าไปเสริม เพื่อให้สมาชิกสามารถอยู่ได้กับอาชีพการเกษตร และสิ่งที่ตั้งเป้าหมาย คือ ตัวเลขหนี้ NPL ที่ตั้งไว้ จะต้องลดลง ร้อยละ 25 เหมือนปีที่แล้ว

“การขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาหนี้ต้องใช้ระยะเวลาดำเนินการเพื่อให้เกิดผลสำเร็จ โดยสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรต้องมีส่วนร่วมในการดำเนินการ และให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาหนี้อย่างจริงจัง เพื่อให้การขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาหนี้ดำเนินการไปอย่างต่อเนื่อง กรมส่งเสริมสหกรณ์จึงได้ดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินและพัฒนาคุณภาพชีวิตสมาชิกสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรด้วยระบบสหกรณ์ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 โดยมีสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรเป้าหมาย จำนวน 700 แห่ง ที่เข้าร่วมโครงการในพื้นที่รับผิดชอบ 78 หน่วยงาน มีการแต่งตั้งทีมงานแก้ไขปัญหาหนี้ (ทีมโค้ช) ของจังหวัด ทีมปฏิบัติการของสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร ในการแก้ไขปัญหาหนี้ ร่วมกันจัดทำแผนการแก้ไขปัญหาหนี้ แผนส่งเสริมอาชีพ และแผนคลินิกแก้หนี้ และร่วมกันขับเคลื่อนให้เป็นไปตามแผน” นายวิศิษฐ์ กล่าว

ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมา กรมส่งเสริมสหกรณ์ดำเนินแผนการแก้ไขปัญหาหนี้ โดยกลุ่มเป้าหมาย จำนวน 710 แห่ง ในพื้นที่ 78 หน่วยงาน มีสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร จำนวน 641 แห่ง สมาชิก 50,870 ราย ได้รับการแก้ไขหนี้ค้างชำระลดลงกว่า 1,878 ล้านบาท คิดเป็น ร้อยละ 22.95 มีสมาชิกได้รับการส่งเสริมอาชีพ 4,279 ราย แผนรายได้/เงินออม สมาชิกมีรายได้/เงินออมเพิ่มขึ้น 7,601 ราย เป็นเงินจำนวน 7.794 ล้านบาท แผนคลินิกแก้หนี้ ดำเนินการให้คำปรึกษาแก้หนี้กับสมาชิก 11,759 ราย ผลมีสมาชิกเข้ามาปรึกษา 9,637 ราย

นอกจากนี้ ได้มีการจัดอบรมโครงการบริหารจัดการหนี้และส่งเสริมอาชีพให้สมาชิกมีรายได้อย่างยั่งยืน ดำเนินการโดยสำนักงานสหกรณ์จังหวัดแต่ละจังหวัด สำนักงานส่งเสริมสหกรณ์กรุงเทพมหานคร พื้นที่ 1 และพื้นที่ 2 ไปดำเนินการ โดยเชิญวิทยากรในพื้นที่ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ในเรื่องดังกล่าวมาเป็นผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้ จากหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ของแต่ละจังหวัดอีกด้วย