“ฉัตรชัย ดีสวัสดิ์” Smart Farmer จังหวัดนครปฐม คว้ารางวัลชนะเลิศเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ประจำปี 2567 ด้วยแนวคิดพัฒนาอาณาจักรมะนาวด้วยความรู้ทางวิศวกรรม

มูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด จับมือกรมส่งเสริมการเกษตร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ประกาศผลเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ประจำปี พ.ศ. 2567 ครั้งที่ 16

นายธนสาร ธรรมสอน ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประธานในพิธีประกาศผลโครงการคัดเลือกเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด กล่าวว่า โครงการคัดเลือกเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิดได้ดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 16 มีภาคีเครือข่ายที่เข้มแข็งและมีความหลากหลาย ทั้งในภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม ที่ร่วมมือกันระหว่างกรมส่งเสริมการเกษตร มูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ในการสนับสนุนกิจกรรมและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารสู่เกษตรกรผ่านโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ รวมถึงการจัดทำโครงการคัดเลือกเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิดที่ได้รับการสนับสนุนและพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน สำหรับปี พ.ศ. 2567 นี้ โครงการคัดเลือกเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิดจัดขึ้นภายใต้แนวคิด เกษตรพื้นถิ่น สร้างสรรค์ เพื่อสร้างมูลค่าเกษตรไทย โดยมุ่งสนับสนุนเกษตรกรที่สามารถผสมผสานองค์ความรู้ดั้งเดิมกับวิทยาการใหม่ ๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรไทย ตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ ในขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนและความปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่กำลังขับเคลื่อนอยู่ภายใต้หลักการ ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ เช่น โครงการ 1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง ซึ่งมุ่งมั่นพัฒนายกระดับการเกษตรให้พี่น้องเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร โดยเฉพาะ เกษตรกรรุ่นใหม่ สมาร์ทฟาร์มเมอร์ YSF ร่วมพัฒนาสินค้าเกษตรในท้องถิ่น โดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ร่วมกับองค์ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรม และการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ

ด้านนายสุริยะ คำปวง รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า การพัฒนาภาคเกษตรของไทย ภายใต้ยุคที่โลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จำเป็นต้องอาศัยแนวทางที่ก้าวทันโลก แต่ยังคงยึดโยงกับรากฐานของภูมิปัญญาไทย กรมส่งเสริมการเกษตร ได้กำหนดแผนปฏิบัติราชการระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 – 2570) เพื่อขับเคลื่อนวิสัยทัศน์ที่ว่า “เกษตรกรมีความเข้มแข็ง มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีรายได้เพิ่มขึ้น” ด้วย 3 เป้าหมายสำคัญ ได้แก่ การพัฒนาและเสริมสร้างความมั่นคงให้เกษตรกร โดยมุ่งเน้นให้เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเอง มีคุณภาพชีวิตที่ดี ลดรายจ่าย และเพิ่มรายได้ พร้อมกับการดูแลด้านสวัสดิการที่จำเป็น ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรได้ดำเนินการพัฒนาเกษตรกรและองค์กรเกษตรกรสู่ความเข้มแข็ง ผ่านการส่งเสริมให้เกิดกลุ่ม Young Smart Farmer และ Smart Farmer และนำความรู้ด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และบริหารจัดการได้อย่างยั่งยืน นอกจากนี้การส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิตที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล การใช้ตลาดนำการผลิต และเชื่อมโยงสู่ห่วงโซ่อุปทาน จะสามารถตอบโจทย์การจำหน่ายสินค้าทั้งภายในประเทศและการส่งออกได้

“โครงการคัดเลือกเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิดเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรไม่แสวงหากำไร ภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับมูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด โดยมีเป้าหมายเพื่อเชิดชู เกษตรกรที่เป็นต้นแบบ พร้อมทั้งส่งเสริมความรู้ ความสามารถและการเข้าถึงเทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเกษตร ให้ความสำคัญกับการสร้างแรงบันดาลใจแก่เกษตรกรรุ่นใหม่ โดยเฉพาะการยึดแนวทางเกษตรอินทรีย์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ หัวข้อการประกวดในปีนี้คือ เกษตรพื้นถิ่นสร้างสรรค์ เพื่อสร้างมูลค่าเกษตรไทยยังสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกรมส่งเสริมการเกษตร ในเรื่องการปรับตัวหรือปรับเปลี่ยนจากการทำเกษตรรูปแบบเดิมไปสู่การทำเกษตรมูลค่าสูง ยกระดับการผลิตและคุณค่าของสินค้าเกษตร ตลอดจนเพื่อใช้ประโยชน์ด้านวัสดุชีวภาพ ด้านเภสัชกรรม ด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สร้างความแตกต่างของผลิตภัณฑ์ เพื่อเพิ่มรายได้ที่ดีกว่าเดิมให้แก่เกษตรกร และก่อให้เกิดความยั่งยืนในภาคเกษตรต่อไปในอนาคต” รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าว

ทั้งนี้ เกษตรกรที่ได้รับรางวัลในปี 2567 รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ คุณฉัตรชัย ดีสวัสดิ์ Smart Farmer ปี 2564 และเป็นจุดขยายผลของเกษตรกรปราดเปรื่องต้นแบบ Smart Farmer Model ของกรมส่งเสริมการเกษตร ปี 2566 จาก “เลมอน มี ฟาร์ม” จังหวัดนครปฐม ซึ่งได้ใช้ความรู้ทางวิศวกรรม ศึกษาและพัฒนาการแปรรูปมะนาวจากน้ำมะนาวผสมน้ำตาล ต่อยอดจนเกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ สร้างความแตกต่างที่เป็นเอกลักษณ์และได้รับความนิยมจากผู้บริโภค ส่วนรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ คุณปนิดา มูลนานัด “วัยหวาน” จังหวัดเพชรบุรี รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ คุณณฐกร เอกสมัย “บ้านสวนเอกสมัย” จังหวัดนครราชสีมา

รางวัลเกษตรกรดีเด่น 6 รางวัล ได้แก่ คุณศุภเศรษฐ์ กิตติพล “มีสุข” ผืนป่ากฤษณา จังหวัดระยอง คุณชนัญญา เชวงโชติ “สวนลุงชะเอม” จังหวัดราชบุรี คุณจิรกร จิวเจริญกาล “โชคจิระเกษตร” จังหวัดนครปฐม คุณวิชัย ดำเรือง “สวนสะละลุงถัน” จังหวัดพัทลุง

คุณอภิรติ กุนอก “ธนาบ้าสวน” จังหวัดนครราชสีมา และคุณมนตรี ชูกำลัง “วิสาหกิจชุมชนหนูพุกใหญ่พรหมพิราม” จังหวัดพิษณุโลก