รมว.ยุติธรรม และปลัดกระทรวงยุติธรรม จัดโครงการสัปดาห์ต่อต้านทุจริตและส่งเสริมจริยธรรม “ยุติธรรมต้านโกง โปร่งใส ไม่คอร์รัปชัน”

ในวันพุธที่ 4 ธันวาคม 2567 เวลา 09.30 น. พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานเปิดโครงการสัปดาห์ต่อต้านทุจริตและส่งเสริมจริยธรรม “ยุติธรรมต้านโกง โปร่งใส ไม่คอร์รัปชัน” โดยมี นางพงษ์สวาท นีละโยธิน ปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นผู้กล่าวรายงาน พร้อมด้วย นายกูเฮง ยาวอหะซัน เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม คณะผู้บริหารระดับสูงกระทรวงยุติธรรม ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ ห้องประชุมกระทรวงยุติธรรม 10-09 (ห้องออดิทอเรียม) ชั้น 10 กระทรวงยุติธรรม และผ่านระบบออนไลน์ (Facebook live)

โอกาสนี้ ได้มีการจัดการอภิปรายในหัวข้อ “ถอดรหัสความสำเร็จการต่อต้านคอร์รัปชันของสิงคโปร์และเกาหลีใต้สู่การปฏิบัติของไทย” โดยได้รับเกียรติจาก ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค ผู้อำนวยการศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชั่นและส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค คุณก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ ผู้อำนวยการสำนักข่าวสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้

ในการนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้กล่าวในใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า ประเทศไทยให้ความสำคัญต่อการต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่น โดยมีการระบุเป็นวาระสำคัญไว้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ที่เรียกว่ารัฐธรรมนูญปราบโกง เด็กที่เกิดใหม่จะต้องมีหน้าที่ไม่ร่วมมือหรือสนับสนุนการทุจริตและพฤติมิชอบทุกรูปแบบ และในส่วนหน้าที่ของภาครัฐ รวมถึงรัฐสภา ศาล รัฐบาล องค์กรอิสระ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ จะต้องส่งเสริมและสนับสนุน รวมทั้งให้ความรู้แก่ประชาชนถึงอันตรายที่เกิดจากการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐและภาคเอกชน และจัดให้มีมาตรการ กลไกที่มีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบ รวมท้้งส่งเสริมการรณรงค์ให้ความรู้ ตลอดจนประชาชนที่ชี้เบาะแสต้องได้รับความคุ้มครอง แต่อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะมีกฎหมาย แต่การคอรัปชันก็ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ ที่ไม่ใช่เพียงแค่เป็นปัญหาของเรา แต่เป็นปัญาใหญ่ของคนทั้งโลกด้วย รัฐธรรมนูญจะมีการกล่าวถึงการบริหารราชการแผ่นดินใน 2 ประเด็น คือ 1) เรื่องยุทธศาตร์ชาติ รัฐควรจัดให้มียุทธศาสตร์ชาติที่มีเป้าหมายในการพัฒนาที่ยั่งยืนตามหลักธรรมมาภิบาล และ 2) การมีเสรีภาพทางการเมืองที่ปราศจากความรุนแรง โดยรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกงได้ระบุไว้ว่า จะไม่ใช้กฎหมายอยู่เหนือความเป็นธรรม ความเป็นธรรมในที่นี้หมายถึง การบัญญัติกฎหมายจะขัดต่อหลักนิติธรรมไม่ได้ การบัญญัติกฎหมายจะไปละเมิดศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ไม่ได้

กระทรวงยุติธรรม จะยึดมั่นความซื่อสัตย์และโปร่งใส การปฎิบัติอย่างเป็นธรรม มีความรับผิดชอบต่อสังคม ส่งเสริมวัฒนธรรม และคุณธรรม ปฎิเสธการสนับสนุนการทุจริต และจะบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด รวมถึงการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน พร้อมทั้งขอให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรมประสานความร่วมมือในการพัฒนาและขับเคลื่อนงานยุติธรรมด้วยหลักการว่า “ยุติธรรมต้านโกงโปร่งใส ไม่คอร์รัปชัน” กระทรวงยุติธรรมพร้อมร่วมเป็นพลังสำคัญของประเทศไทยในการบรรลุเป้าหมาย คือ การยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perception Index :CPI) ให้อยู่ใน 20 อันดับแรกของโลกในปี พ.ศ. 2579

ทั้งนี้ กระทรวงยุติธรรม ได้กำหนดจัดงาน “สัปดาห์ต่อต้านทุจริตและส่งเสริมจริยธรรม” ขึ้น ภายใต้โครงการสัปดาห์ต่อต้านทุจริตและส่งเสริมจริยธรรมเพื่อเป็นการเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการป้องกัน ปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ และการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมให้กับบุคลากรส่วนราชการในสังกัดกระทรวงยุติธรรม หน่วยงานภาคเอกชน และเครือข่ายภาคประชาชนที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วม การรวมพลังแสดงเจตนารมณ์ในการต่อต้านการทุจริตของกระทรวงยุติธรรม และการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์การทุจริต ตลอดจนแนวทางแก้ไขปัญหา เพื่อร่วมกันหาแนวทางหรือมาตรการที่จะนำไปสู่การป้องกันการทุจริตให้ได้ผลอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป