นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลเพื่อการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ครั้งที่ 19 (The nineteenth session of the Intergovernmental Committee for the Safeguarding of the Intangible Cultural Heritage: IGC-ICH) ขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNESCO เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2567 เวลา 16.10 น. (เวลาท้องถิ่น) ณ นครอซุนซิออน (Asuncion) สาธารณรัฐปารากวัย หรือตรงกับ วันที่ 4 ธันวาคม 2567 เวลาประมาณ 02.10 น. (ประเทศไทย เร็วกว่า 10 ชั่วโมง) มีมติรับรองให้ “ต้มยำกุ้ง” (Tomyum Kung) ขึ้นทะเบียนเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (Representative List of the Intangible Cultural Heritage of Humanity : RL) ประจำปี 2567 ต่อจากรายการ โขน นวดไทย โนรา และ สงกรานต์ ในปีที่ผ่านมา
รมว.วธ. กล่าวว่า ในการเสนอ ต้มยำกุ้ง ขึ้นทะเบียนมรดกฯ กับยูเนสโก นี้ คณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2564 เห็นชอบให้ กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เสนอขอขึ้นทะเบียน “ต้มยำกุ้ง” (Tomyum Kung) เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ค.ศ. 2003 ของยูเนสโก หลังจากที่ ต้มยำกุ้ง ได้รับการประกาศขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติเมื่อปี พ.ศ. 2554 ในสาขาความรู้และการปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล ประเภทอาหารและโภชนาการ ด้วย ต้มยำกุ้ง เป็นมรดกภูมิปัญญาฯ ที่สะท้อนให้เห็นถึงวิถี การดำเนินชีวิตของคนไทย ที่มีความเรียบง่าย มีสุขภาวะทั้งกายและใจที่แข็งแรง รู้จักการพึ่งพาตนเองด้วยวิธีธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรอบตัว เป็น “กับข้าว” ที่คนในชุมชนเกษตรกรรมริมแม่น้ำในพื้นที่ภาคกลาง นำวัตถุดิบที่มีอยู่ในชุมชนท้องถิ่นมาสร้างสรรค์เป็นอาหารเพื่อสุขภาพ โดยชื่อ ต้มยำกุ้ง เกิดจากการนำคำ 3 คำมารวมกันได้แก่ “ต้ม” “ยำ” และ “กุ้ง” ซึ่งหมายถึงกระบวนการทำอาหารที่นำเนื้อสัตว์ คือ กุ้ง ต้มลงในน้ำเดือดที่มีสมุนไพรซึ่งปลูกไว้กินเองในครัวเรือนอย่างข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด และปรุงรสจัดจ้านแบบยำ ให้มีรสเปรี้ยวนำด้วยมะนาว ตามด้วยรสเค็มจากเกลือหรือน้ำปลา รสเผ็ดจากพริก รสหวานจากกุ้ง และขมเล็กน้อยจากสมุนไพร นั่นเอง
“ปัจจุบัน ภูมิปัญญาการทำต้มยำกุ้งได้มีการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นอย่างต่อเนื่อง และแพร่กระจายไป ยังพื้นที่อื่น อย่างกว้างขวางทั้งในประเทศและต่างประเทศ ก่อให้เกิดการสร้างสรรค์สูตรต้มยำกุ้งที่แปลกใหม่มากมาย เพื่อตอบสนองต่อสภาพทางภูมิศาสตร์ วิถีชีวิต และรสนิยมการบริโภคอาหารที่แตกต่างกันไปของคนกลุ่มต่าง ๆ ทั้งยังเป็นอาหารที่ได้รับความนิยม ชื่นชอบของชาวต่างชาติ ถือเป็น Soft power ด้าน อาหาร เมนูสำคัญของประเทศไทย ที่กระทรวงวัฒนธรรม พร้อมสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาต่อยอดเป็นเมนูยอดนิยมของคนทั่วโลก” รมว.วธ. กล่าว
รมว.วธ. กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากที่มรดกวัฒนธรรมของไทย ได้รับการขึ้นทะเบียนแล้ว วธ. มีแนวทางการส่งเสริมและต่อยอดตามนโยบายของรัฐบาล โดยกระทรวงวัฒนธรรม ในการขับเคลื่อน Soft power ด้านอาหาร โดยใช้เศรษฐกิจทางวัฒนธรรม กระตุ้นให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ และสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ทั้งในระดับชุมชนและระดับประเทศ อาทิ ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ละคร เกม รายการโทรทัศน์ รวมถึงสื่อออนไลน์ ให้สอดแทรกเนื้อหา ต้มยำกุ้ง เพื่อสร้างกระแสความนิยมในวงกว้าง และบูรณาการกับภาคธุรกิจ-การท่องเที่ยว ในการนำ ต้มยำกุ้ง เป็นเมนูหลัก เมนูอาหารต้องชิม เมื่อมาเที่ยวเมืองไทย บรรจุลงในโปรแกรมการท่องเที่ยว และเป็นเมนูอาหารที่ต้องระบุไว้ในรายการอาหารขึ้นโต๊ะผู้นำ รวมทั้งผู้เข้าร่วมในการประชุมที่จัดในประเทศไทย หรือที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ตลอดจนเชิญชวนให้ผู้ประกอบการด้านท่องเที่ยวและการบริการ เช่น โรงแรม ภัตตาคาร ร้านอาหาร ร่วมจัดแคมเปญพิเศษในการส่งเสริมการขาย เพื่อเป็นการกระตุ้นยอดขายเมนูต้มยำกุ้ง และยังเป็นการสร้างการรับรู้ถึงคุณค่าและสาระของเมนูต้มยำกุ้งไป สู่ประชาชนและนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติอีกด้วย
รมว.วธ. เปิดเผยอีกว่า นอกจากรายการต้มยำกุ้งแล้ว ในวันที่ 4 ธันวาคม 2567 เวลาระหว่าง 09.30 – 12.30 น. (เวลาท้องถิ่น) สาธารณรัฐปารากวัย ซึ่งตรงกับวันที่ 4 ธันวาคม 2567 เวลาระหว่าง 19.30 – 22.30 น. (เวลาประเทศไทย) ขอเชิญชวนชาวไทย โดยเฉพาะพี่น้องภาคใต้ เตรียมลุ้น “เคบายา” รายการมรดกวัฒนธรรมที่เสนอ ขอขึ้นร่วม 5 ประเทศ คือ ประเทศมาเลเซีย บรูไน อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และไทย จะได้รับการรับรองให้ขึ้นทะเบียนในปีเดียวกัน อีกด้วย
ในโอกาสที่น่ายินดีนี้ กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม จึงขอเชิญพี่น้องประชาชนร่วมกิจกรรม งานฉลองต้มยำกุ้งและเคบายา มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ ระหว่างที่ 6-8 ธันวาคม 2567 ณ Quartier Avenue ชั้น G ศูนย์การค้า เอ็มควอเทียร์ โดยในวันที่ 6 ธันวาคม เวลา 18.00 น. จะมีพิธีเปิดงานโดย นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ให้เกียรติเปิดงานอย่างเป็นทางการ ภายในงานพบกับเชฟไอซ์ ศุภักษร จงศิริ ผู้สร้างประวัติศาสตร์พาร้านอาหารไทย ‘ศรณ์’ คว้ารางวัล สามดาวมิชลินเป็นแห่งแรกของโลก และการสาธิตการทำต้มยำกุ้ง โดยเชฟตุ๊กตา (ครัวบ้านยี่สาร) หนึ่งในผู้เข้าแข่งขันเชฟกระทะเหล็กประเทศไทย พร้อมให้ชิมต้มยำกุ้งฟรี รวมถึงการแสดงแฟชั่นโชว์ชุดเคบายา นำโดยนางสาวไทยและรองนางสาวไทย และร่วมชมนิทรรศการ “ต้มยำกุ้ง” และนิทรรศการ/สาธิตการปักชุด-เครื่องประดับ “เคบายา” และอาหารเปอรานากัน จากจังหวัดภูเก็ต พังงา ระนอง กระบี่ ตรังและสตูล และยังได้เพลิดเพลินกับการแสดงดนตรี การแสดงทางวัฒนธรรมให้รับชมตลอดงาน โดยติดตามรายละเอียดได้ที่ www.culture.go.th และเฟสบุ๊คกรมส่งเสริมวัฒนธรรม