วันที่ 10 กันยายน 2562 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (สำนักงาน กสม.) จัดโครงการเสวนาวิชาการเพื่อเผยแพร่ผลงานการศึกษาวิจัยด้านสิทธิมนุษยชน เรื่อง สิทธิของผู้สูงอายุ เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนตามโครงการศึกษาวิจัยเพื่อจัดทำข้อเสนอแนะนโยบายหรือมาตรการเพื่อคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิของผู้สูงอายุ : กรณีการเลือกปฏิบัติในผู้สูงอายุ ให้แก่หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และเครือข่ายภาคประชาชน ณ โรงแรมทีเค พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร
นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวเปิดการเสวนาว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีการเตรียมการรองรับกลุ่มประชากรสูงอายุแล้วเห็นได้จากการบัญญัติกฎหมาย นโยบาย และมาตรการต่าง ๆ เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้สูงอายุ เช่น รัฐธรรมนูญแห่งอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๗๑ วรรคสาม กำหนดให้รัฐพึงให้ความช่วยเหลือผู้สูงอายุให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ และคุ้มครองป้องกันมิให้ถูกใช้ความรุนแรงหรือปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม มาตรา ๒๗ วรรคสาม กำหนดให้การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลไม่ว่าด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องอายุจะกระทำมิได้ และวรรคสี่ บัญญัติว่า มาตรการที่รัฐกำหนดขึ้นเพื่อคุ้มครองหรืออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้สูงอายุ ย่อมไม่ถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม โดยพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๓ ได้มีการจัดตั้งกองทุนผู้สูงอายุ และพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๖๐ ยังได้เพิ่มบทบัญญัติเรื่องการจ่ายเงินสงเคราะห์เพื่อการยังชีพแก่ผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย และมีการเก็บเงินจากผู้มีหน้าที่เสียภาษีสรรพสามิตในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสินค้าสุราและยาสูบ ในอัตราร้อยละ ๒ ตามกฎหมายว่าด้วยภาษีสรรพสามิตเข้ากองทุนผู้สูงอายุด้วย
นายวัส กล่าวเพิ่มเติมว่า สิทธิมนุษยชนของผู้สูงอายุเป็นหนึ่งในวาระสำคัญของการพัฒนาและปฏิรูปประเทศตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี และแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ได้แก่ แผนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ แผนความเสมอภาคและหลักประกันทางสังคม และแผนการบริการประชาชนและประสิทธิภาพภาครัฐ ซึ่งรองรับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคม ประชากร และครอบครัว รวมถึงการเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการ ตลอดจนความเหลื่อมล้ำต่าง ๆ ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) พ.ศ. ๒๕๖๐ – ๒๕๖๕ โดยสิทธิของผู้สูงอายุ เป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญที่ กสม. มีแผนที่จะศึกษา รวบรวม วิเคราะห์ และประมวลสภาพปัญหาสิทธิของผู้สูงอายุในด้านต่าง ๆ เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลต่อไป
นางประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะประธานคณะทำงานจัดทำข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของผู้สูงอายุและคนพิการกล่าวบรรยายในหัวข้อ “การปฏิบัติงาน ข้อค้นพบ และข้อเสนอแนะจากการปฏิบัติหน้าที่ของ กสม. ในประเด็นการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของผู้สูงอายุ” สรุปว่า ที่ผ่านมา กสม. ได้ประมวลข้อมูลสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของผู้สูงอายุ มาตรการและการดำเนินการของหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งนำข้อคิดเห็นที่ได้จากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมาประกอบการจัดทำ “ร่างข้อเสนอแนะเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของผู้สูงอายุ ๗ ด้าน” เพื่อเตรียมเสนอแนะต่อรัฐบาล โดยมีสาระดังนี้
๑) สิทธิในที่อยู่อาศัย เสนอให้รัฐส่งเสริมเรื่อง “การตรึงผู้สูงอายุให้อยู่กับชุมชน” การรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญในการปรับปรุงสภาพแวดล้อมในที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตยามชราภาพ และการให้ความสำคัญกับการดูแลผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยให้มีที่อยู่อาศัยที่มีสภาพเหมาะสม
๒) สิทธิด้านสุขภาพ เสนอให้รัฐจัดให้มีบุคลากร/แผนกด้านการรักษาเฉพาะที่ให้บริการด้านสุขภาพแก่ผู้สูงอายุได้อย่างเพียงพอ และควรมีมาตรการจูงใจให้มีผู้สมัครเป็นผู้จัดการดูแล (Care Manager) และผู้ดูแล (Care Giver) ผู้สูงอายุมากขึ้น เช่น การสนับสนุนค่าตอบแทนที่เหมาะสมและความก้าวหน้าในอาชีพ
๓) หลักประกันรายได้ เสนอให้รัฐเร่งรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการวางแผนการออมเงินไว้ใช้จ่ายยามชราภาพ การพัฒนารูปแบบการออมภาคบังคับสำหรับแรงงานนอกระบบ การผลักดันให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเบี้ยยังชีพมีระเบียบการเบิกจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่ชัดเจน โดยควรกำหนดให้มีการจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุไม่เกินวันที่ ๕ หรือภายในสัปดาห์แรกของเดือน
๔) สิทธิในการมีงานทำ เสนอให้รัฐพิจารณาขยายอายุเกษียณราชการเป็น ๖๕ ปีโดยให้เป็นไปตามความสมัครใจ และควรเร่งพิจารณาจัดทำมาตรฐานการทำงานของผู้สูงอายุ เช่น ชั่วโมงการทำงานและค่าจ้างรายชั่วโมงที่เหมาะสมกับวัย
๕) สิทธิในการศึกษาตลอดชีวิต เสนอให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทำหน้าที่ในการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ โดยอาจดำเนินการในรูปแบบศูนย์การศึกษาและฝึกอาชีพผู้สูงอายุ รวมถึงเสนอแนะให้มีการส่งเสริมในเรื่องการจัดทำเว็บไซต์ หรือ application บนสมาร์ทโฟนหรือใช้ช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ เป็นศูนย์กลางในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่สำคัญสำหรับผู้สูงอายุ
๖) สิทธิในการได้รับความคุ้มครองจากการถูกทอดทิ้ง ถูกกระทำรุนแรง และถูกแสวงประโยชน์ เสนอให้รัฐสร้างจิตสำนึกและปลูกฝังคุณธรรมให้บุตรมีความรับผิดชอบดูแลบิดามารดาเพื่อป้องกันปัญหาการทอดทิ้งผู้สูงอายุ และเสนอให้รัฐควรจัดให้มีบริการดูแลผู้สูงอายุแบบไปกลับ (Day Care) ในชุมชนเพื่อช่วยเหลือครอบครัวในการดูแลผู้สูงอายุในช่วงที่สมาชิกอื่นต้องออกไปทำงานระหว่างวัน ตลอดจนการปรับวงเงินการช่วยเหลือผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยและถูกทอดทิ้งให้มากขึ้นเพียงพอแก่การยังชีพอยู่ได้
๗) สิทธิในการได้รับความคุ้มครองในภาวะภัยพิบัติ เสนอให้ควรมีการระบุกลุ่มเปราะบางและกำหนดแนวทางการให้ความช่วยเหลือผู้สูงอายุอย่างชัดเจนในแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของแต่ละพื้นที่
ทั้งนี้ ในการเสวนาดังกล่าว ยังมีการประชุมระดมความคิดเห็นประเด็นสถานการณ์ ข้อท้าทาย และข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุในมิติด้านเศรษฐกิจและสังคม สุขภาพ และกระบวนการยุติธรรมด้วย โดย สำนักงาน กสม. จะรวบรวมข้อมูลและประมวลผลจากการเสวนาครั้งนี้ไปใช้ในการจัดทำข้อเสนอแนะนโยบายหรือมาตรการเพื่อคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิของผู้สูงอายุให้สอดคล้องกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของผู้สูงอายุเพื่อเสนอต่อรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องต่อไป
เผยแพร่โดย สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
10 กันยายน 2562