‘Developmental Evaluation’ เครื่องมือประเมินผล-พัฒนา เพิ่มประสิทธิภาพ ‘ธรรมนูญสุขภาพ’

“สช.” จัดเวทีเสวนา เพิ่มคุณค่า – พัฒนาธรรมนูญสุขภาพ ด้วย “แนวคิด Developmental Evaluation” ภายในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 17 ตัวแทนผู้ปฏิบัติงานระดับชุมชนจากทุกภูมิภาค ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ขับเคลื่อนสุขภาวะดีผ่านธรรมนูญสุขภาพชุมชน รวมถึงใช้แนวคิด Developmental Evaluation ในการประเมินผลเพื่อการพัฒนา  

 เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2567 ภายในงาน งานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 17 พ.ศ. 2567 ที่จัดขึ้นโดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายยุทธศาสตร์ งานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 17 พ.ศ. 2567 ระหว่างวันที่ 27 – 28 พ.ย. 2567 ณ อาคารอิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี ภายใต้ประเด็นหลัก “เศรษฐกิจยุคใหม่ สร้างสุขภาวะไทยยั่งยืน” มีการจัดเวทีเสวนานโยบาย (Policy Forum) หัวข้อ “เพิ่มคุณค่า – พัฒนาธรรมนูญสุขภาพ ด้วยแนวคิด DE” เพื่อถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ การนำแนวคิดการประเมินเชิงพัฒนา (Developmental Evaluation : DE) มาใช้ในการประเมินผลธรรมนูญสุขภาพในชุมชน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาต่อยอดให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

นางทัศนา  อินต๊ะแก้ว ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านสันห่าว (รพ.สต.บ้านสันห่าว) จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ในปี 2567 นี้ ต.เวียงท่ากาน ได้รับการชักชวนจากทาง สช. ให้เป็นหนึ่งในพื้นที่ศึกษา โครงการวิจัยการพัฒนาการประเมินผลธรรมนูญสุขภาพพื้นที่ด้วยแนวคิดการประเมินเพื่อพัฒนา (Developmental Evaluation : DE)

ทั้งนี้ ในพื้นที่ ต.เวียงท่ากาน เป็นการทำการประเมินผลการขับเคลื่อนการทำงานด้านสุขภาพตามที่ได้กำหนดไว้ในธรรมนูญว่าด้วยการพัฒนาระบบสุขภาวะองค์การบริหารส่วนตำบลเวียงท่ากาน (อบต.เวียงท่ากาน) ฉบับที่ 2 ปี 2564  ซึ่งประเด็นที่ทางชุมชนได้คัดเลือกมาเพื่อทำการประเมิน มีทั้งหมด 4 ประเด็น ได้แก่ การส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ การจัดการขยะและสิ่งแวดล้อม การควบคุมโรคไม่ติดต่อ และการควบคุมโรคติดต่อ

นางทัศนา กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่ได้จากกระบวนการทำ DE คือ การที่ชุมชนได้ทำการประเมินผลตนเอง ภายหลังจากการประกาศใช้ธรรมนูญสุขภาพฯ มาทั้งหมด 2 ฉบับ ซึ่งมีการวิเคราะห์ถึงต้นทุนและศักยภาพของชุมชนแล้วพบว่ามีผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจ เช่น เรื่องของการควบคุมโรคไม่ติดต่อ ในผู้ป่วยโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง เมื่อนำข้อมูลตัวเลขมาเปรียบเทียบตั้งแต่ปี 2563 – 2567 ระหว่างหมู่บ้าน หมู่บ้านที่มีการประกาศใช้ธรรมนูญสุขภาพฯ จะสามารถควบคุมโรคได้ดีกว่า หมู่บ้านที่ยังไม่มีการประกาศใช้ธรรมนูญสุขภาพฯ

นายอุเทน  แสงนาโก ปลัดเทศบาลตำบลผาอินทร์แปลง จ.เลย  กล่าวว่า ต.ผาอินทร์แปลง มีการประกาศใช้ธรรมนูญสุขภาพฯ มาตั้งแต่ปี 2558 โดยไม่เคยมีการทบทวนและปรับปรุงแก้ไข จนกระทั่งทาง สช. ได้เข้ามาทำโครงการวิจัยฯ จึงทำให้ ต.ผาอินทร์แปลง ได้มีโอกาสในการประเมินผลธรรมนูญสุขภาพฯ ที่เคยมีการประกาศใช้ เพื่อนำไปสู่การพัฒนา ตามแนวทางของ DE

ทั้งนี้ ประเด็นที่ทางชุมชนผาอินทร์แปลง ได้ร่วมกันตัดสินใจประเมินและขับเคลื่อนการพัฒนา มีทั้งหมด 2 ประเด็น ได้แก่ 1. การบริหารจัดการขยะแบบครบวงจร โดยส่งเสริมให้ชาวบ้านร่วมกันจัดการและคัดแยกขยะ  สิ่งที่เกิดขึ้นจากกองทุนขยะติดลบกว่า 90,000 บาท  เมื่อไม่สามารถจ่ายเงินสวัสดิการให้กับสมาชิกได้  ทำให้สมาชิกกองทุนลดน้อยลง  ก็ได้มีการเปลี่ยนเป็นธนาคารขยะ มีการแก้ไขสวัสดิการ จากกองทุนติดลบ ตอนนี้สามารถใช้หนี้จ่ายสวัสดิการคืนให้กับสมาชิกได้ทั้งหมด  ปัจจุบันมีเงินกองทุนกว่า 150,000 บาท ตอนนี้เดินหน้าต่อ การจัดการขยะขับเคลื่อนแบบครบวงจร นวัตกรรมการจัดการขยะ  นำขยะพลาสติกมารีไซเคิลโดยการกลั่นเป็นน้ำมัน เพื่อใช้ในชุมชน  ส่วนขยะประเภทเศษอาหาร จะนำมาเข้าสู่กระบวนการหมักเป็นปุ๋ยอินทรีย์  ปัจจุบันมีการทำ MOU ระดับอำเภอ โดยใช้หลัก “บวรอ.” 2. การขับเคลื่อนงานบุญงานศพปลอดเหล้า เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุที่นำมาสู่การเสียชีวิตของคนในชุมชน ซึ่งปัจจุบันจากเก็บข้อมูลการขับเคลื่อนในช่วง 1 ปี ที่ผ่านมามีเจ้าภาพจัดงานบุญ/งานศพ เข้าร่วมโครงการงานบุญงานศพปลอดเหล้าถึง 70% นอกจากนี้ยังสามารถขยายโครงการงานบุญงานศพปลอดเหล้าจากเดิมมีหมู่บ้านเข้าร่วมโครงการ 7 หมู่บ้าน ปัจจุบันสามารถขยายโครงการขับเคลื่อนได้ครบครอบคลุม 14 หมู่บ้าน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ คือดอกผลที่เกิดจากการนำกระบวนการ DE มาปรับใช้ในชุมชน โดยมี สช. เป็นผู้ให้การสนับสนุน มากไปกว่านั้น ภายในเดือน ธ.ค. ปี 2567 ต.ผาอินทร์แปลง จะมีการปรับปรุงแก้ไขและประกาศใช้ธรรมนูญสุขภาพฯ ฉบับที่ 2 เพื่อให้สอดรับกับบริบทที่มีการเปลี่ยนแปลงภายในชุมชน  กระบวนการ DE ทำให้คนได้มาพูดคุยกัน  พลิกวิกฤติที่เกิดขึ้นเป็นโอกาส

นายสมชาย หาริกะ ผู้อำนวยการ รพ.สต.บ้านเซซ่ง จ.ยโสธร กล่าวว่า ต.เชียงเพ็ง มีการจัดทำธรรมนูญสุขภาพฯ ขึ้นมาตั้งแต่ปี 2565 เพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพของแม่และเด็กในพื้นที่ ภายหลังพบว่า ข้อมูลการสำรวจความฉลาดทางสติปัญญา (IQ) จากกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ระบุว่า จ.ยโสธร เป็นพื้นที่ที่มีปัญหาเด็กมี IQ ต่ำมากที่สุด ในเขตสุขภาพที่ 10 จึงได้นำมาสู่การตื่นตัวและขับเคลื่อนการพัฒนาสุขภาพแม่และเด็กในทุกระดับ ทั้งภาคส่วนจังหวัด มาจนถึงระดับตำบลอย่าง ต.เชียงเพ็ง ที่มี รพ.สต.บ้านเซซ่ง เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนวาระดังกล่าว โดยร่วมกับคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับตำบล (พชต.)

นายสมชาย กล่าวต่อไปว่า หลังจากที่มีการขับเคลื่อนการทำงานในพื้นที่ ตามธรรมนูญฯ แล้ว ทาง สช. ก็ได้เข้ามาให้ไอเดียในการประเมินผล ตามแนวทาง DE ซึ่งทำให้ในพื้นที่ได้มาร่วมกันทบทวนและรื้อฟื้นว่า ธรรมนูญที่เคยทำและประกาศใช้ไว้ มีข้อไหนบ้างที่ทำได้ดี และทำได้ไม่ดี แล้วมีประเด็นไหนในแต่ละพื้นที่ที่จะต้องพัฒนาเพิ่มเติมอีก ก็จะกำหนดให้ชุมชนนั้นๆ เลือกหัวข้อที่ตัวเองต้องการจะพัฒนาต่อยอดขึ้นมา ซึ่ง ต.เชียงเพ็งได้มีการแบ่งพื้นที่จาก 7 หมู่บ้านออกมาเป็น 5 กลุ่ม ทำให้ได้วาระในการพัฒนาของแต่ละพื้นที่ทั้งหมด 5 เรื่อง  ที่นี่ใช้เทคนิค 6 ช. ในการทำงาน ได้แก่ 1) ชวน  ชวนเครือข่ายในพื้นที่ร่วมบูรณาการการทำงาน 2) เชื่อม เชื่อมต่อกิจกรรมทั้งรัฐและเอกชน พร้อมทั้งเชื่อมและส่งต่อข้อมูลระหว่างเครือข่าย 3) แชร์ เป็นการแชร์ทรัพยากรการทำงานได้แก่ คน เงิน ของ  4) ชื่นชม เป็นการเสริมพลังเครือข่ายด้วยการชื่นชม  มีครอบครัวตัวอย่าง ชื่นชมครอบครัวที่ทำได้ดีเพื่อเสริมพลังบวกให้มาขับเคลื่อนงานต่อ  5) ชุมชน มีทีมงาน อสม. ผู้นำชุมชน และผู้สูงอายุจิตอาสาในการขับเคลื่อนงาน ทั้งจิตอาสา จ่ายอาหารเสริมธาตุเหล็ก  และ 6) เชิงรุก นำมาปิดช่องว่างการทำงาน ถ้าเจอปัญหา มีการตรวจพัฒนาการที่บ้าน เยี่ยมหญิงตั้งครรภ์ เยี่ยมหลังคลอด

สิ่งที่ได้ “คุณค่าและบทเรียน ธรรมนูญสุขภาพเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาด้านสุขภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับพื้นที่  และทุกคนเข้ามาช่วย สร้างภาคีเครือข่ายที่เข้มแข็ง  และการพัฒนาปรับปรุง ต้องให้คนในพื้นที่รับทราบและมีส่วนร่วมมากที่สุด ให้เขาเป็นเจ้าของแล้วเขาจะช่วยเราทำงาน และการพัฒนาศักยภาพแกนนำและคณะกรรมการ/คณะทำงานขับเคลื่อนธรรมนูญเพื่อให้เขาได้ทำงานและแสดงศักยภาพของเขา 

และทีม พชต. ได้มานั่งมองว่านอกจากที่เราไปทำให้เขา ศักยภาพเราได้มีการพัฒนาขึ้นบางไหม เป็นการพัฒนาเครือข่ายผู้นำ

คุณค่า DE ในพื้นที่ คณะกรรมการรับทราบผลการขับเคลื่อนธรรมนูญฯ ที่เขาเขียนว่ามีข้อดี ข้อด้อย ปัญหาอุปสรรคอย่างไรและสามารถปรับปรุงและพัฒนาในส่วนที่ยังไม่สมบูรณ์ มีแนวทางที่จะแก้ไข  และได้คุยกันว่าในปี 2568 จะทบทวนและปรับปรุงธรรมนูญ  โดยจะร่วมกับทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในทุกกระบวนการ เป็นเครื่องมือที่ดึงศักยภาพของบุคลากรของบุคลากร/ภาคีเครือข่ายในพื้นที่ เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับบุคลากร-ภาคีเครือข่าย ช่วยให้ทบทวนและพัฒนาตนเองทั้งธรรมนูญและคณะกรรมการขับเคลื่อนธรรมนูญเอง

น.ส.จันทนา เสี่ยงสลัก ขบวนองค์กรชุมชน จ.ตราด กล่าวว่า กระบวนการในการทำ DE ของ จ.ตราด อาจจะมีความแตกต่างและแปลกกว่าพื้นที่อื่น คือ มีการใช้กลไกของสภาองค์กรชุมชน ในการขับเคลื่อนการดำเนินงานโดยภาคประชาชน ซึ่งจะมีความครอบคลุมสภาองค์กรชุมชนทั้งในระดับจังหวัด และในระดับตำบล ซึ่งที่ผ่านมาขบวนองค์กรชุมชนได้มีการพัฒนาและจัดทำธรรมนูญที่จะผลักดันวาระการพัฒนาที่จะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ผ่านแคมเปญที่ชื่อว่า “5 ดี วิถีตราด”  ซึ่งทางผู้ว่าราชการจังหวัดได้ประกาศให้เป็นวาระของจังหวัด โดยให้สภาองค์กรชุมชนตำบลในแต่ละพื้นที่เป็นผู้ขับเคลื่อนตามบริบทเฉพาะของแต่ละชุมชน โดยมีการเลือกพื้นที่ใน 7 อำเภอ ซึ่งมีกลไกสภาองค์กรชุมชน ท้องที่ได้แก่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และท้องถิ่นคือ อปท. ได้แก่ เทศบาล/ อบต. ซึ่งตำบลตะกางเป็นหนึ่งในพื้นที่ขับเคลื่อนที่มีความพร้อม ขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพ 5 ดีวิถีคนตราด  ตำบลตะกาง  ใน 5 ด้าน ได้แก่ สุขภาพดีเริ่มที่คน คนสุขภาพดีทำให้ก้าวไปสู่การแก้ไขปัญหาได้ทุกเรื่อง  เศรษฐกิจดี การปลูกอยู่ปลูกกิน แปรรูปกินใช้ในครัวเรือน  เศรษฐกิจชุมชนดี  สิ่งแวดล้อมดี ทุกครัวเรือนจัดการขยะด้วยตนเองไม่มีถังขยะ  และทำเรื่องรุกมรดกชุมชน  ที่นี่มีต้นไม้อายุเยอะช่วยกันอนุรักษ์ ที่อยู่อาศัยดี คนตะกางบอกเราต้องมีที่อยู่อาศัยที่ดี บ้านที่เราอยู่ต้องมั่นคงแข็งแรงปลอดภัย และสังคมดี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่  สุดท้ายตะกางประกาศเป็นชุมชนสุจริต

น.ส.จันทนา กล่าวอีกว่า หลังดำเนินงานไประยะหนึ่ง ก็ได้มีการนำกระบวนการ DE มาประเมินผลการขับเคลื่อนวาระ โดยมี สช. เป็นผู้จุดประกายและสนับสนุนองค์ความรู้ในการจัดทำ ก่อนจะพบว่า รายละเอียดที่ได้ดำเนินงานมาทั้งหมด เป็นเพียงแค่กระบวนการต้นน้ำ ที่เป็นลักษณะของการวางแผนร่วมกับภาคีเครือข่ายเท่านั้น ยังไม่ได้มีการออกแบบการทำงานให้ลงลึกไปในรายละเอียด ได้อย่างเป็นรูปธรรมมากนัก จึงได้มีการปรับความเข้มข้นในการขับเคลื่อนให้มีความครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

“กระบวนการ DE ทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ และพี่น้องชาวบ้านที่ประสบปัญหา มาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยน  ปัจจัยเรื่องการมีสุขภาพดีเราบอกว่าวันนี้มี รพ.สต. ที่เข้มแข็ง  แต่สิ่งที่ต้องเริ่มคือชุมชนจัดการตนเอง เริ่มต้น 1 ตำบล 1 สมุนไพรท้องถิ่น คือ เร่วหอม เดิมใส่น้ำพริกแกงเร่วหอมและน้ำก๋วยเตี๋ยวหมูเรียง ปัจจุบันได้พัฒนาเป็นชาเร่วหอม  พร้อมกันนี้ที่ตะกางกำลังทำเรื่องท่องเที่ยว “เที่ยวตะกางดูป่าเดินได้ กินเม็ดมะม่วงอบเกลือ จิบชาเร่วหอม และกินเตี๋ยวหมูเรียง”

น.ส.สุจิตรา สังข์เพชร ผู้อำนวยการ รพ.สต.บ้านเชี่ยวหลาน-ไกรสร จ.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า จากสถานการณ์ที่ชุมชนเขาพังได้เข้าสู่สภาวะที่เรียกว่าสังคมสูงวัย และมีแนวโน้มของที่จะมีจำนวนผู้สูงอายุในพื้นที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้ต้องมีการเตรียมความพร้อมในการรองรับ จึงเป็นที่มาของการจัดทำธรรมนูญสุขภาพผู้สูงอายุเขาพังเพื่อสุขภาวะที่ดี ฉบับที่ 1 ซึ่งได้ประกาศใช้ไปเมื่อวันที่ 15 ก.ย. 2567 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ในรายละเอียดธรรมนูญสุขภาพฯ ได้มีการกำหนดเป้าหมาย ผลลัพธ์ และวิธีการวัดประเมินผล ในกลไก 5 อ. คือ อาหาร ออกกำลังกาย อโรคยา อุบัติเหตุ และอนามัยสิ่งแวดล้อม ผ่านการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทุกระดับ โดยมีการแบ่งบทบาทการรับผิดชอบอย่างชัดเจน โดยกระบวนการทำงานเริ่มต้นจากคณะทำงานพัฒนาและขับเคลื่อนในพื้นที่  มีนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มาหนุนเสริม  นอกจากนี้ ชุมชนเขาพัง ยังได้มีการนำการประเมิน DE มาปรับใช้เพื่อทำการศึกษาว่า ภายหลังจากที่ได้มีการประกาศธรรมนูญสุขภาพฯ ออกไป ได้ก่อให้เกิดประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนการสร้างสุขภาวะที่ดีให้กับผู้สูงอายุมากน้อยเพียงใด ที่เขาพังมีการขับเคลื่อนธรรมนูญฯ โดยใช้วิชาการในการทำงาน  เพื่อนำไปสู่การปรับปรุง พัฒนา ต่อยอด ธรรมนูญสุขภาพฯ ต่อไป  นอกจากนี้ยังมีการต่อยอดจาก 5 อ. สู่การขยายประเด็นการขับเคลื่อนอื่นๆ