รมช. เกษตรฯ หนุนแนวคิด “ปรับกลยุทธ์สัตว์น้ำไทย สร้างกำไรทุกภาคส่วน” เปิดงาน “สัตว์น้ำไทย 2024” (Thai Aqua Expo 2024) ติดอาวุธผู้เพาะเลี้ยง ผู้ประกอบการ พร้อมแข่งขันในตลาดโลก

วันจันทร์ที่ 2 ธันวาคม 2567 ณ โรงแรมซันไรส์ ลากูน โฮเทลแอนด์กอล์ฟ จังหวัดฉะเชิงเทรา นายอัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงาน “งานสัตว์น้ำไทย 2024” (Thai Aqua Expo 2024) พร้อมด้วยนายอิทธิ ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งจัดโดย สมาคมกุ้งตะวันออกไทย หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน ในระหว่างวันที่ 2-4 ธันวาคม 2567 ภายใต้แนวคิด “ปรับกลยุทธ์สัตว์น้ำไทย สร้างกำไรทุกภาคส่วน” พร้อมเยี่ยมชมนิทรรศการภาควิชาการ และภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำตลอดห่วงโซ่การผลิต โดยมอบอธิบดีกรมประมง นายบัญชา สุขแก้ว ร่วมเสวนาหัวข้อ “ปรับแผนกลยุทธ์กุ้งไทย เพื่อคว้าชัยในตลาดโลก” พร้อมสนับสนุนองค์ความรู้วิชาการประมงแก่เกษตรกรและผู้ประกอบการ ภายใต้หลักการ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อช่วยยกระดับศักยภาพสินค้าสัตว์น้ำไทยให้แข่งขันได้ในตลาดโลก

นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง  เปิดเผยว่า  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายสนับสนุนให้มีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอย่างยั่งยืน เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางด้านอาหาร รวมถึงส่งเสริมการพัฒนาอาชีพของเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำควบคู่ไปกับการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการ เพื่อเพิ่มโอกาสและเตรียมความพร้อมขยายตลาดได้ทั้งภายในและต่างประเทศภายใต้หลักการ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” ซึ่งการขับเคลื่อนทางนโยบายนั้น กรมประมงได้ให้ความสำคัญและเข้มงวดกับกระบวนการผลิตสินค้าสัตว์น้ำ เพื่อให้ได้สินค้าที่มีคุณภาพตรงตามมาตรฐาน ตั้งแต่การเพาะเลี้ยง การเฝ้าระวังโรคสัตว์น้ำ การใช้ยาและสารเคมีในการเพาะเลี้ยง และการตรวจสอบย้อนกลับได้ตลอดสายการผลิต ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติที่สำคัญตามมาตรฐานสากล

“งานสัตว์น้ำไทย 2024” เป็นกิจกรรมสำคัญที่จัดขึ้นเพื่อให้เกษตรกร ภาครัฐ และภาคเอกชน มีโอกาสเข้ามาร่วมในการรับรู้ รับทราบและมีส่วนร่วมในการวางแผนบริหารจัดการด้านการผลิตควบคู่กับการตลาดให้มีความสอดคล้องกัน รวมถึงได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร องค์ความรู้ ประสบการณ์เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ ให้เป็นปัจจุบัน เพื่อพัฒนาศักยภาพการแข่งขันของสินค้าสัตว์น้ำไทย โดยภายในงานมีการจัดนิทรรศการเพื่อร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการประมง ภายใต้แนวคิด “เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไทย ก้าวไกลด้วยนวัตกรรมรักษ์สิ่งแวดล้อม” ประกอบด้วย การนำเสนองานวิชาการที่แสดงถึงการรับมือในภาวการณ์เปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกต่อภาคการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยในส่วนของต้นน้ำ เช่น การนำเสนอเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและลดต้นทุน ผ่านรูปแบบโมเดลจำลองต้นแบบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำแบบคาร์บอนต่ำ การนำเสนอสายพันธุ์กุ้งขาวสายพันธุ์โตดี (เพชรดา 1) สายพันธุ์ทนโรค (ศรีดา 1) ที่ผ่านการปรับปรุงสายพันธุ์จากกรมประมง การเฝ้าระวังโรคและวิธีการรับมือโรคอุบัติใหม่ และข้อกำหนดของมาตรฐานฟาร์มสัตว์น้ำประเภทต่าง ๆ สำหรับส่วนของกลางน้ำและปลายน้ำ เช่น การจัดแสดงข้อมูลกระบวนการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากปลากะพง ปลานิล และกุ้งทะเลที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยใช้หลักคิดเศรษฐกิจพอเพียง ผสมผสานกับแนวคิด BCG Model สู่หลักปฏิบัติ ESG เพื่อสร้างประโยชน์ให้ชุมชนตามหลักธรรมาภิบาลร่วมกับการจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากร้าน Fisherman shop ตลอดจนการนำเสนอข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับขั้นตอนการรับรองสินค้าส่งออกไปจำหน่ายยังตลาดต่างประเทศ

นอกจากนั้นภายในงานยังมีการจัดเสวนาเพื่อให้ความรู้แก่ผู้ร่วมงานจาก ทีมผู้บริหารภาครัฐ ภาคเอกชน และนักวิชาการ อาทิเช่น การเสวนา “ปรับแผนกลยุทธ์กุ้งไทย เพื่อคว้าชัยในตลาดโลก” โดย นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง ในฐานะคณะกรรมการบริหารจัดการห่วงโซ่การผลิตกุ้งทะเลและผลิตภัณฑ์ หรือ ชริมพ์บอร์ด (Shrimp Board)

นายชูพงษ์ ลือสุขประเสริฐ คณะกรรมการชริมพ์บอร์ดภาคห้องเย็นและผู้ส่งออก และนายสมชาย ฤกษ์โภคี การเสวนาหัวข้อ “รู้แผนจัดซื้อกุ้งไทย เกษตรกรเลือกผลิต เลือกขายห่างไกลช่วงราคาตกต่ำ” และการบรรยายในองค์ความรู้ที่จำเป็นต่อภาคการเพาะเลี้ยง อาทิเช่น หัวข้อ “มาตรฐานฟาร์มเพาะฟักและฟาร์มเลี้ยงที่จำเป็นสำหรับส่งออกกุ้งก้ามกรามไปประเทศจีน” หัวข้อ “การเพิ่มประสิทธิภาพความร่วมมือภาครัฐและภาคเอกชนในประเทศเพื่อแก้ปัญหาโรคอุบัติใหม่ – อุบัติซ้ำของกุ้งทะเล” หัวข้อ“การขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการส่งออกกุ้งก้ามกราม” และหัวข้อ “การตรวจคัดกรองลูกกุ้งคุณภาพภายใต้กล้องจุลทรรศน์” เป็นต้น

ภายหลังจากพิธีเปิด ได้มีการร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการด้านโรคปลานิล  พร้อมเปิดตัวนวัตกรรมใหม่ด้วยแพลตฟอร์มระบบการรายงานโรคปลานิลในรูปแบบดิจิทัลครั้งแรกของประเทศไทย เพื่อให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับการเกิดโรคในปลานิลได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้น ตลอดจนสามารถพัฒนาเป็นระบบประกาศแจ้งเตือนภัยให้เกษตรกร (Early warning system) ในอนาคต ภายใต้ความร่วมมือแบบบูรณาการภาครัฐ หน่วยงานวิจัย มหาวิทยาลัย และภาคเอกชน ได้แก่ คณะสัตวแพทยศาสตร์ และคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC)  ห้องปฏิบัติการสุขภาพสัตว์น้ำ บริษัท มานิตย์ เจเนติกส์  และห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์โรคสัตว์น้ำ กองวิจัยและพัฒนาสุขภาพสัตว์น้ำ กรมประมง

ทั้งนี้ “การจัดงานสัตว์น้ำไทย 2024” ถือเป็นก้าวสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสัตว์น้ำไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน ทั้งในด้านคุณภาพมาตรฐานการผลิต และการขยายตลาดในเวทีโลก ด้วยความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และเกษตรกร  ซึ่งนอกจากจะช่วยยกระดับศักยภาพสินค้าสัตว์น้ำและสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจแล้ว  ยังเป็นการส่งเสริมความมั่นคงทางอาหาร และพัฒนาอาชีพของเกษตรกรไทยให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น อธิบดีกล่าว