นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2567 เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2567 เวลา 14.00 ณ ห้อง 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ โดยมี นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมดังกล่าว ว่า…ในการประชุมครั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติได้มีมติเห็นชอบใน 4 เรื่องสำคัญ ที่มีผลต่อการพัฒนาการบริหารจัดการทรัพยากรประมงของประเทศในระยะยาว ทั้งด้านการประมงในและนอกน่านน้ำไทย และอุตสาหกรรมประมงต่อเนื่อง รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และการบริหารจัดการทรัพยากรประมงทะเล ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ดังนี้
1. เห็นชอบนโยบายและแผนบริหารจัดการการประมง 5 ด้านหลัก ซึ่งนโยบายดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามวิสัยทัศน์ คือ “ทรัพยากรประมงสมดุล การประมงไทยเข้มแข็ง เศรษฐกิจประมงเติบโตอย่างยั่งยืน” โดยใช้แผนบริหารจัดการการประมง พ.ศ. 2566 – 2570 ในการขับเคลื่อน เพื่อนำไปสู่การดำเนินการที่มีประสิทธิภาพ ด้วยยุทธศาสตร์ 4 ด้าน 18 กลยุทธ์ 96 กิจกรรม สำหรับนโยบายและแผนฉบับนี้ได้ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน สามารถครอบคลุมการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาการประมงในทุกมิติ
2. เห็นชอบโครงการประมงรวมใจจ่ายระบบติดตามเรือประมงไทย (VMS) คนละครึ่ง กรมประมงเห็นว่า การติดตั้ง VMS สามารถติดตามตำแหน่งเรือประมงได้ตลอดเวลา เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการเฝ้าระวัง การทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้สามารถติดตาม ตรวจสอบย้อนกลับได้และสอดคล้องกับบริบทสากล โดยให้ชาวประมงและภาครัฐจ่ายคนละครึ่ง เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อน และลดภาระค่าใช้จ่าย
3. เห็นชอบคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการกลั่นกรองการนำเรือออกนอกระบบ เพื่อให้การจัดการทรัพยากรประมงเป็นไปอย่างยั่งยืน คณะกรรมการฯ ได้มีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการกลั่นกรองการนำเรือออกนอกระบบ ซึ่งจะทำหน้าที่ ในการเสนอแนะนโยบาย มาตรการ หลักเกณฑ์ ขั้นตอน และวิธีการดำเนินงานในการลดจำนวนเรือประมง
4. เห็นชอบคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการวิทยาศาสตร์ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรประมงทะเล โดยจะทำหน้าที่ตรวจสอบ พัฒนาวิธีการรวบรวมข้อมูล และวิเคราะห์ข้อมูลที่ใช้ในการกำหนดจุดอ้างอิงผลผลิตสูงสุดที่ยั่งยืน (MSY) เพื่อให้มีจุดอ้างอิงที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ เชื่อถือได้ และเหมาะสมกับสภาวะทรัพยากรและการประมงของประเทศไทย เพื่อนำไปใช้ในการบริหารจัดการการประมงให้เกิดความยั่งยืนต่อไป
อธิบดีกรมประมงกล่าวทิ้งท้ายว่า…การประชุมครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่งในการพัฒนาการประมงของประเทศ ซึ่งไม่เพียงแต่จะส่งเสริมให้เกิดการฟื้นฟูทรัพยากรประมงในทุกมิติ แต่ยังเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคการประมง และเป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมประมงที่สามารถต่อยอดเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาวได้