นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ หนุน อสม.13 จังหวัดภาคเหนือ รณรงค์ประชาชนกินแบบนับคาร์บ ลดปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ยก อสม.กว่า 1 ล้านคน เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงสุขภาพ ช่วยคนไทยสุขภาพดีทั่วหน้า ลดงบประมาณค่ารักษาพยาบาลของประเทศ
วันที่ 30 พฤศจิกายน 2567 ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา จังหวัดเชียงใหม่ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงานการขับเคลื่อนนโยบายคนไทยห่างไกลโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ครั้งที่ 6 โดยมี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข อสม. ข้าราชการและประชาชนในพื้นที่ ร่วมงาน และได้กล่าวว่า โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เป็นภัยคุกคามต่อระบบสาธารณสุขไทย โดยแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากโรค NCDsกว่า 400,000 ราย และมีผู้ป่วยใหม่เพิ่มขึ้นกว่า 2,000,000 ราย ส่งผลให้ประเทศต้องสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจในการรักษาทั้งทางตรงและทางอ้อมปีละกว่า 1.6 ล้านล้านบาท ซึ่ง อสม. 1,080,000 คน ถือเป็นกำลังสำคัญที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสุขภาพที่ดีของคนไทย ด้วยการสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชนถึงความจำเป็นที่จะต้องร่วมกันส่งเสริมป้องกันโรค NCDs และปรับพฤติกรรมการกินแบบนับคาร์บ เพื่อส่งเสริมให้พี่น้องคนไทยมีสุขภาพที่ดี ช่วยลดจำนวนผู้ป่วยโรค NCDs ซึ่งจะช่วยลดงบประมาณค่ารักษาพยาบาลของประเทศชาติ และสร้างความมั่นคงยั่งยืนให้กับระบบสาธารณสุขไทย
ด้าน นายสมศักดิ์ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายคนไทยห่างไกลโรคและภัยสุขภาพ ที่มุ่งเน้นการส่งเสริมสุขภาพและวิถีชีวิตเพื่อสุขภาพ ปรับปรุงกฎหมายและมาตรการให้เอื้อต่อการควบคุม ดูแล และส่งเสริมสุขภาพ เพื่อแก้ปัญหาโรค NCDs ให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยได้จัดงานขับเคลื่อนนโยบายคนไทยห่างไกล NCDs เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรสาธารณสุข และ อสม. ในการดำเนินงานและยกระดับระบบบริการด้านการป้องกันและควบคุมโรค NCDs ให้มีประสิทธิภาพ ตลอดจนให้ความรู้และความเข้าใจแก่ประชาชน เพื่อให้มีพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสม ซึ่งจากการจัดกิจกรรมรณรงค์โครงการคนไทยห่างไกล NCDs ไป 5 ครั้ง ที่จังหวัดสงขลา นครพนม นครสวรรค์ ชลบุรี และอุบลราชธานี รวม 10 เขตสุขภาพ 63 จังหวัด มี อสม. เรียนรู้การนับคาร์บ แล้วกว่า 7 แสนคน และมีประชาชนร่วมลงทะเบียนนับคาร์บแล้วกว่า 6.4 ล้านคน ส่วนในวันนี้ มีการออนไลน์ไปยังเขตสุขภาพที่ 1 และ 2 รวม 13 จังหวัด มีผู้เข้าร่วมงานแบบออนไซต์ 5,000 คน และผ่านระบบ Onlineอีก 250,000 คน รวมทั้งสิ้น 255,000 คน