นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังหารือการพัฒนาระบบโลจิสติกส์การเกษตร ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า ในวันนี้ได้เชิญหน่วยงานทั้งภาครัฐ องค์กรการค้า และสมาพันธ์ที่เกี่ยวข้อง มาร่วมนำเสนอแนวคิดและวิธีการในการจัดการระบบโลจิสติกส์เกษตร เพื่อมุ่งพัฒนาให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นกระทรวงที่มีการยกระดับการบริการสู่ประชาชน โดยจะต้องมีการจัดทำ Big Data ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง และพัฒนาบุคลากรให้เป็น Smart Agriculture ซึ่งประเทศไทยจำเป็นต้องมีการพัฒนาและขับเคลื่อนโลจิสติกส์เกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำสินค้าเกษตรสู่ผู้บริโภคและสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยผู้ที่ขับเคลื่อนหลัก คือ ภาคเอกชน โดยภาครัฐจะทำหน้าที่สนับสนุนและอำนวยความสะดวกเรื่องข้อมูลและกฎระเบียบต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม มุ่งหวังให้กระทรวงเกษตรมีแผนปฏิบัติการอย่างเร่งรัด (Quick Win) เพื่อขับเคลื่อนแนวทางการบริหารจัดการระบบโลจิสติกส์การเกษตรให้สามารถนำมาปรับใช้ได้ และต้องสร้างแผนแม่บทภายใน 2 ปี เน้นให้เกษตรกรเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้ขาย สามารถส่งสินค้าเกษตรถึงมือผู้บริโภคได้โดยตรง
ทั้งนี้ การขับเคลื่อนโลจิสติกส์การเกษตรมีกลไกระดับประเทศ มีคณะกรรมการพัฒนาระบบการบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการของประเทศ (กบส.) มีรองนายกรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) เป็นประธาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมเป็นกรรมการ ได้มีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศ ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2560 – 2564) นอกจากนี้ กบส. ยังได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 4 คณะ รวมทั้งอนุกรรมการพัฒนาระบบโลจิสติกส์การเกษตร ซึ่งมีปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธานด้วย
สำหรับแนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในปี 2563 ได้มีการของบประมาณตามภารกิจของหน่วยงาน ประกอบด้วย 1) การส่งเสริมเทคโนโลยีและนวัตกรรมโลจิสติกส์การเกษตร ได้แก่ การส่งเสริมการใช้เครื่องจักรกลการเกษตร และการส่งเสริมการทำฟาร์มอัจฉริยะ และ 2) การพัฒนาปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์สินค้าเกษตร นอกจากนี้ ยังมีแผนบูรณาการของประเทศ จำนวน 4 แผน ได้แก่ แผนพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ แผนพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ แผนพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก และแผนพัฒนาพื้นที่ระดับภาค