ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เผย น้ำที่อยู่ในทุ่งภาคกลางหลายแห่งขณะนี้ เป็นน้ำฝนที่ตกในพื้นที่ ส่วนน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา ที่มาจาก จ.นครสวรรค์ ระบายออกสู่ระบบชลประทาน ฝั่งซ้าย-ขวา เหนือเขื่อนเจ้าพระยา และระบายออกด้านท้าย ปตร.เขื่อนเจ้าพระยา ด้วย
สำหรับพื้นที่เกษตรกรรมที่ใช้เป็นพื้นที่รับน้ำลุ่มเจ้าพระยา ยังไม่ได้มีการระบายน้ำเข้าไปเก็บไว้ เพราะมีพื้นที่เก็บเกี่ยวไปแล้วร้อยละ 70 เหลืออีกร้อยละ 30 อยู่ระหว่างการเก็บเกี่ยว คาดว่าหลังวันที่ 24-25 กันยายน นี้ เป็นต้นไป จะเริ่มระบายน้ำเข้าทุ่งรับน้ำทั้งหมด เพราะเก็บเกี่ยวผลผลิตครบ 100% ส่วนสาเหตุที่ยังไม่ระบายน้ำเข้าไปในตอนนี้ เพราะจะทำให้พื้นที่บางแปลงที่ยังไม่เก็บเกี่ยวเสียหาย
“ต้องเข้าใจว่าพื้นที่ลุ่มภาคกลาง เพาะปลูกพร้อมกัน และเริ่มเก็บเกี่ยวพร้อมกัน เราจึงรอให้เก็บเกี่ยวครบทั้งหมดก่อน จึงจะเริ่มระบายน้ำเข้าไป” อธิบดี ทองเปลวฯ กล่าว
ส่วนจะมีการแย่งเพื่อขอให้กรมชลประทานฯ ระบายน้ำเข้าทุ่งใดทุ่งหนึ่งก่อน เพื่อจะได้เก็บน้ำไว้ในทุ่ง เพราะกังวลว่าฝนจะตกเขตภาคกลางน้อย จากนี้ไป และจะไม่มีน้ำทำการเกษตร ดร.ทองเปลว ระบุว่า จะระบายเข้าพร้อมกันทุกทุ่ง ในเกณฑ์ที่ตกลงไว้ คือ ระดับความสูง 50-80 ซม. แต่มีข้อแม้ คือ จะต้องไม่ท่วมถนนในชุมชน แต่หากจะนี้ไปจนถึงกลางเดือนตุลาคม มีพายุจรเข้ามาเขตภาคกลาง ก็ยังมีพื้นที่พอรองรับน้ำฝนได้ แต่หากไม่มีเกษตรกรก็สามารถใช้น้ำที่ระบายไว้ทำการเกษตรได้ แต่ขอแนะนำว่า ให้ทำการเกษตรตามที่ จนท.กระทรวงเกษตรฯ แนะนำ เพื่อลดความเสียหายจากภาวะในทิ้งช่วงในปีหน้า