28 พ.ย.67 – นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เป็นประธานเปิด “การประชุมสัมมนาชาวประมงพื้นบ้านประเทศไทย ครั้งที่ 10 (ประจำปี 2567)” มอบนโยบายการดำเนินงานที่มุ่งเสริมสร้างความเข้มแข็งในการประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน พร้อมตั้งโต๊ะเสวนาระหว่างภาครัฐและชาวประมงเพื่อร่วมกัน วางแนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวประมงพื้นบ้าน ขานรับนโยบายรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายอัครา พรหมเผ่า ที่เร่งผลักดันและขับเคลื่อนการพัฒนาประมงพื้นบ้าน ส่งเสริมและต่อยอดด้านความมั่นคงทางอาหารอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน โดยภายในงานมี นายปิยะ เทศแย้ม นายกสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย ชาวประมงพื้นบ้าน รวมถึงผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ ห้องประชุมอานนท์ กรมประมง
นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า “การประมงพื้นบ้าน” มีความสำคัญต่อภาคสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากเป็นอาชีพที่เกี่ยวข้องกับประชาชนจำนวนมากและเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของผู้บริโภค กรมประมงจึงมุ่งเน้นการสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านให้สามารถประกอบอาชีพได้อย่างมั่นคง โดยส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างเป็นระบบและทำการประมงเชิงอนุรักษ์ ผ่านการดำเนินงานในรูปแบบองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่น ซึ่งปัจจุบันมีการขึ้นทะเบียนแล้วทั้งหมด 3,202 กลุ่ม มีจำนวนสมาชิกรวม 117,408 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 5 พฤศจิกายน 2567) และสนับสนุนองค์ความรู้ในการต่อยอดกิจกรรมจากอาชีพประมงตั้งแต่การแปรรูปเพิ่มมูลค่าสินค้าสัตว์น้ำจนถึงการขยายช่องทางการจำหน่ายแบบครบวงจร เพื่อให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ และเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชน กรมประมงยังได้ร่วมกับผู้แทนชาวประมงพื้นบ้าน องค์กรภาคประชาสังคม และผู้แทนจากภาคการศึกษา ในการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำ การพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวประมง การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอาชีพการประมง การเสริมสร้างความเข้มแข็งองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่น และการประสานงานทั้งในระดับส่วนกลางและพื้นที่ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนประมงต่อไป
สำหรับการประชุมดังกล่าว เป็นการประชุมใหญ่ประจำปีของสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านทั้งหมด 76 กลุ่ม จาก 18 จังหวัดชายทะเล ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 27-29 พฤศจิกายน 2567 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้พี่น้องชาวประมงพื้นบ้านได้มีเวทีในการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะแนวทางการประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ภายในงานฯ ยังมีการเสวนาในหัวข้อ “ความคืบหน้าการแก้ปัญหาชุมชนประมงพื้นบ้านกับฐานทรัพยากรทะเลไทย และแนวทางการสนับสนุน การรุกรับ ปรับตัวของชุมชนประมงพื้นบ้านต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” โดยผู้แทนจากส่วนราชการ ทั้งกรมประมง กรมเจ้าท่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม และกรมการท่องเที่ยว และการเสวนาในหัวข้อ “ทิศทางความอยู่รอดและทางออกของชาวประมงพื้นบ้านไทยในบริบทปัจจุบัน” โดยผู้แทนจากภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย สมาคมรักษ์ทะเลไทย มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา และองค์กรอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ นอกจากนี้ ยังมีการจัดแสดงนิทรรศการนำเสนอข้อมูลความรู้จากหน่วยงานต่าง ๆ พร้อมจัดบูทจำหน่ายผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ ราคาถูก คุณภาพดี ทั้งอาหารทะเลสด อาหารทะเลแปรรูป อาหารทะเลปรุงสุก รวมถึงของฝากอีกมากมาย ที่ส่งตรงจากชาวประมงพื้นบ้านถึงมือผู้บริโภคมาจำหน่ายภายในงานอีกด้วย
อธิบดีกล่าวในตอนท้ายว่า กรมประมงจะยังคงมุ่งมั่นพัฒนาประมงพื้นบ้านให้เป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหารตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้มีการทำประมงที่คงไว้ซึ่งแหล่งที่อยู่อาศัยและความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ สนับสนุนให้มีการใช้ประโยชน์และเพิ่มมูลค่าทรัพยากรสัตว์น้ำ อันจะก่อให้เกิดความเข้มแข็งในการประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน