รมว.ศธ. “เพิ่มพูน” เป็นประธานการประชุมประสานภารกิจ ครั้งที่ 41/2567 เตรียมส่งของขวัญปีใหม่ชิ้นแรก “กล่องความรู้ สู่ความสุข” ม.6 หยุดเรียนติว TGAT/TPAT ออนไลน์ทั่วประเทศ พร้อมขับเคลื่อนบทบาทแอดมิน PISA พัฒนาครูแกนนำ ออกข้อสอบวัดความฉลาดรู้ให้เป็นมาตรฐาน ตลอดจนเดินหน้าวางระบบรวมฐานข้อมูล Zero Dropout ไว้ที่จุดเดียว สะดวกต่อการค้นหาผู้เรียนหลุดจากระบบการศึกษา และเน้นย้ำทุกหน่วยงานทำงานรูปแบบ “Sub Set เรียนดี มีความสุข” ภายใต้องค์กรเดียวกัน
27 พฤศจิกายน 2567 / พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่ากระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานการประชุมประสานภารกิจ กระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 41/2567 ณ ห้องประชุมราชวัลลภ และออนไลน์ผ่านระบบ Zoom meeting
ของขวัญปีใหม่กระทรวงศึกษาธิการ
รมว.ศธ. กล่าวว่า ที่ประชุมได้หารือเตรียมแถลงข่าวมอบของขวัญปีใหม่ให้ครูและนักเรียน ซึ่งของขวัญชิ้นแรกสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้จัดสอนเสริม “กล่องความรู้ สู่ความสุข” ติวออนไลน์ไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อให้นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 หยุดเรียนเป็นเวลา 1 สัปดาห์ ระหว่างวันที่ 2-6 ธันวาคม 2567 เพื่อเตรียมตัวสอบความถนัดทั่วไป (TGAT) และความถนัดทางวิชาชีพ/วิชาการ (TPAT) ที่จะจัดสอบขึ้นในวันที่ 7-9 ธันวาคม 2567 นี้ ซึ่งอนุญาตให้ผู้เรียนสามารถเสริมความรู้ที่บ้าน โดยถือว่าเป็นเวลาเรียนปกติ และหากสถานศึกษาใดมีความพร้อมสามารถจัดติวที่โรงเรียนได้เช่นกัน โดยมีมาตรการกำกับ ติดตาม ตรวจสอบการเรียนรู้ของนักเรียนอย่างมีคุณภาพ
การขับเคลื่อนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา PISA
รมว.ศธ. กล่าวต่อว่า จากการติดตามผลการดำเนินงานขับเคลื่อนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา PISA สพฐ.ได้รายงานความคืบหน้าเรื่องอบรมแอดมินที่มีครูแกนนำ ศึกษานิเทศก์ และบุคลากรส่วนกลาง เพื่อให้ทราบถึงบทบาทหน้าที่การจัดการระบบการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ที่เข้ารับการพัฒนาการสร้างแบบทดสอบออนไลน์ โดยใช้ Digital Platform ด้านการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ด้วยโปรแกรม Quizizz Quizalize และ Gimkit
นอกจากนี้ รายงานการบูรณาการภาพรวมของสถานศึกษาสังกัดอื่นที่ขับเคลื่อนไปด้วยกันในการสร้างครูแกนนำออกแบบข้อสอบ รวมถึงเรื่องกฎระเบียบต่างในการทำงานและสะท้อนผลการทำงานในการแก้ไขปัญหาการดำเนินงาน
การแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนหลุดออกจากระบบการศึกษาให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา
รมว.ศธ. ได้กล่าวถึงในส่วนของ Zero Dropoutว่า ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นเจ้าภาพหลักดูแลเรื่องระบบฐานข้อมูลติดตามเด็กวัยเรียนที่อยู่นอกระบบการศึกษาผ่าน https://exchang.moe.go.th ที่มีการอัพเดตข้อมูลแบบเรียลไทม์ ซึ่ง สพฐ. ได้จัดทำโครงการ Kick off “พาน้องกลับมาเรียน นําการเรียนไปให้น้อง” หลายพื้นที่
ส่วนกรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) ได้ลงพื้นที่สำรวจปัญหาจริงในพื้นที่ ซึ่งเห็นรูปแบบในการแก้ไข เพราะพบเจอเด็กหลายกลุ่มที่อยู่นอกระบบ ทำให้รู้ว่าจะช่วยเหลืออย่างไรให้เด็กอยากกลับมาเรียน
ทั้งนี้ ภายในวันที่ 25 ธันวาคม 2567 ก็จะได้ข้อสรุปถึงโมเดลการขับเคลื่อนและระเบียบข้อกฎหมายในการดำเนินงาน และเมื่อส่วนกลางทำระบบเรียบร้อยแล้วก็จะขยายออกไปถึงหน่วยงานอื่น เพื่อบูรณาการการทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
มาตรการช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยา สถานศึกษาและหน่วยงานที่เสียหายจากอุทกภัย
รมว.ศธ. ได้กล่าวเพิ่มเติมถึงการเยียวยาหน่วยงานและสถานศึกษาในสังกัด ที่เสนองบประมาณต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี จำนวน 264,458,436 บาท โดยนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) มีข้อสั่งการให้ ศธ.สำรวจและตรวจสอบข้อมูลความเสียหายและจัดลำดับความสำคัญในการช่วยเหลือตามความเร่งด่วน และขณะนี้มีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จ.นราธิวาส และ จ. ยะลา ได้เห็นมาตรการความปลอดภัยในสถานศึกษาที่โรงเรียนในสังกัดได้ดำเนินการอยู่ เป็นการปฏิบัติตามแนวทาง “ทำดี ทำได้ ทำทันที” ที่ไม่ต้องรอให้ต้นสังกัดสั่งก่อนก็สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้เป็นอย่างดี
“ของขวัญปีใหม่ของกระทรวงศึกษาธิการ เป็นสิ่งที่มอบแทนความสุขให้ผู้เรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งยังมีอีกหลายโครงการรอเปิดตัวส่งความสุขอีกมากมาย ทั้งศูนย์อาชีวะอาสา ร่วมด้วยช่วยประชาชน (Fix it Center) ที่ให้บริการตรวจสภาพรถก่อนการเดินทางทั่วประเทศฟรีในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 และหน่วยงานอื่นในสังกัดและในกำกับที่พร้อมมอบรอยยิ้มให้ทุกคน ขอเน้นย้ำการทำงานรูปแบบ “Sub Set เรียนดี มีความสุข” ที่ทุกหน่วยงานเป็นส่วนหนึ่งภายใต้องค์กรเดียวกัน” รมว.ศธ. กล่าว