รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เดินสายไปอุบลราชธานี ติวเข้ม อสม. 9 จังหวัดอีสานตอนล่าง ชวนประชาชนกินแบบนับคาร์บ ลดปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ปลื้มประชาชนเรียนรู้นับคาร์บแล้วกว่า 1.39 ล้านคน เพิ่มขึ้น 2 เท่า จากการณรงค์ครั้งล่าสุดเมื่อ 22 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา เผยนวัตกรรมโรงพยาบาลเขื่องใน ใช้แอปพลิเคชัน Telehealth ดูแลผู้ป่วยเบาหวาน ช่วยให้ลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ 72.85% หยุดยาได้ 46.42% และลดค่าใช้จ่ายได้ 244,000 บาทต่อปี
วันที่ 26 พฤศจิกายน 2567 ที่ หอประชุมไพรพยอม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี จ.อุบลราชธานี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย ว่าที่พันตรี อดิศักดิ์ น้อยสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี และนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดกิจกรรมการขับเคลื่อนนโยบายคนไทยห่างไกลโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ครั้งที่ 5 โดยนายสมศักดิ์ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs ที่เป็นปัญหาทั้งของประเทศไทยและทั่วโลก โดยมุ่งเน้นการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต โดยเฉพาะการกินอาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรตให้เหมาะสม ด้วยการนับคาร์บในอาหาร และส่งเสริมเรื่องออกกำลังกาย โดยมี อสม. เป็นกลไกสำคัญในการนำไปปฏิบัติเป็นแบบอย่างและส่งต่อความรู้ไปสู่ประชาชนให้เกิดการปรับพฤติกรรมเพื่อสุขภาพที่ดี ห่างไกลโรค NCDs อย่างยั่งยืน โดยในวันนี้ มีการออนไลน์ไปยังเขตสุขภาพที่ 9 และ 10 รวม 9 จังหวัด มีผู้เข้าร่วมงานแบบออนไซต์ 4,000 คน และผ่านระบบ online อีก 236,000 คน รวมทั้งสิ้น 240,000 คน
“หลังจากจัดกิจกรรมรณรงค์โครงการคนไทยห่างไกล NCDs ไป 4 ครั้ง รวม 8 เขตสุขภาพ 54 จังหวัด ล่าสุดมีประชาชนร่วมลงทะเบียนนับคาร์บแล้วกว่า 1.39 ล้านคน เพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าจากการรณรงค์ครั้งล่าสุดที่จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 6.4 แสนคน เป็นสัญญาณที่ดีว่าประชาชนมีการตื่นตัวและให้ความสนใจที่จะป้องกันตนเองจากโรค NCDs” นายสมศักดิ์กล่าว
ด้าน นพ.โอภาสกล่าวว่า หน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ได้ร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินงานตามนโยบายคนไทยห่างไกล NCDs อย่างเต็มที่ และมีการใช้นวัตกรรมต่างๆ เข้ามาเสริมประสิทธิภาพการดำเนินงาน เช่นที่โรงพยาบาลเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี มีโครงการ “เซาเบาหวานที่เขื่องใน” นำอุปกรณ์เครื่องวัดความดันโลหิต วัดระดับน้ำตาลในเลือด เชื่อมต่อกับแอปพลิเคชัน Telehealth ให้ผู้ป่วยบันทึกข้อมูล แพทย์รู้ผลได้แบบเรียลไทม์ ทำให้วางแผนการรักษาและปรับระดับยาได้เหมาะสม ผู้ป่วยที่เข้าร่วมโครงการ 185 ราย สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดหรือระดับน้ำตาลสะสมได้ถึง 72.85% หยุดยาได้ 46.42% และไม่เกิดภาวะแทรกซ้อน รวมทั้งยังลดค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยในการเดินทางมาโรงพยาบาลได้ประมาณ 244,000 บาทต่อปี