วันที่ 10 ก.ย. 62 เวลา 09.00 น. นางธนาภรณ์ พรมสุวรรณ อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรม “การเสริมพลังเครือข่ายด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการในชุมชน” ในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี โดยมีกลุ่มเป้าหมายจำนวน 500 คน ประกอบด้วย แกนนำชุมชนและภาคประชาสังคม แกนนำด้านคนพิการ แกนนำนักเรียน นักศึกษาและกลุ่มเยาวชน อาสาสมัคร ภาคีเครือข่ายทางสังคมที่เกี่ยวข้อง และอาสาสมัครในพื้นที่ เข้าร่วมการอบรม ณ ห้องเพชรพิพัฒน์ ชั้น 2 โรงแรมเดอะเล็คกาซี่ จังหวัดนนทบุรี
นางธนาภรณ์ กล่าวว่า สืบเนื่องจากพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556 มาตรา 20 ได้กำหนดให้คนพิการมีสิทธิเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้จากสิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะ ตลอดจนสวัสดิการและความช่วยเหลืออื่นใด ทั้งในด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ การจัดการศึกษาการส่งเสริมอาชีพ การมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม ตลอดจนการเข้าถึงนโยบาย ข้อมูลข่าวสาร บริการสาธารณะ เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก เบี้ยความพิการ เป็นต้น ประกอบกับแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ฉบับที่ 5 พ.ศ. 2560 – 2564 ได้กำหนดวิสัยทัศน์ให้คนพิการเข้าถึงสิทธิอย่างแท้จริง ดำรงชีวิตอิสระในสังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันอย่างยั่งยืน ภายใต้ยุทธศาสตร์แห่งความเท่าเทียม (EQUAL) โดยเฉพาะในยุทธศาสตร์ที่ 3 เสริมสร้างความเข้าใจและเจตคติเชิงสร้างสรรค์ต่อคนพิการและความพิการ (Understanding) และยุทธศาสตร์ที่ 5 ส่งเสริมการบูรณาการเครือข่ายและสร้างการมีส่วนร่วม เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการอย่างยั่งยืน (Linkage) ในหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ภาคประชาสังคม และภาคส่วนต่างๆ ในรูปแบบกลไกประชารัฐและรูปแบบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนเชื่อมโยงการให้บริการด้านคนพิการอย่างมีประสิทธิภาพ
นางธนาภรณ์ กล่าวต่อไปว่า ดังนั้น เพื่อขับเคลื่อนให้คนพิการสามารถเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการต่างๆ สู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) จึงได้จัดอบรม “การเสริมพลังเครือข่ายด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการในชุมชน” ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 25 สิงหาคม – 20 กันยายน 2562 ในพื้นที่ 22 จังหวัด เช่น กระบี่ ชลบุรี นครศรีธรรมราช พิษณุโลก สมุทรสงคราม อุบลราชธานี เป็นต้น ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายทุกจังหวัดรวมทั้งสิ้น 10,000 คน ซึ่งในวันนี้ ได้จัดขึ้นที่จังหวัดนนทบุรี เพื่อให้ความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับสิทธิและสวัสดิการคนพิการ การคัดกรอง และการพัฒนาทักษะการดูแลช่วยเหลือคนพิการ นำไปสู่การเสริมสร้างเจตคติเชิงสร้างสรรค์ต่อความพิการและคนพิการ ตลอดจนเกิดเครือข่ายด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการในชุมชน
นางธนาภรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับประเด็นอาสาสมัครนั้น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้ส่งเสริมการดำเนินงานอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) ขึ้น เพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนงานตามภารกิจของกระทรวงในระดับพื้นที่มาตั้งแต่ปี 2545 ซึ่งมีหน้าที่ให้คำแนะนำปรึกษาปัญหาทางสังคม ประสานการช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาความเดือดร้อน ให้บริการและดำเนินงาน เพื่อพิทักษ์คุ้มครองสิทธิกลุ่มเป้าหมายตามภารกิจของกระทรวงฯ และส่งเสริมการเข้าถึงสิทธิของประชาชนกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งการจัดกิจกรรมเครือข่ายด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการในชุมชน มีแนวทางปฏิบัติงาน ดังนี้ 1) การมีเจตคติหรือมุมมองเกี่ยวกับคนพิการว่า “คนพิการมีศักยภาพและสามารถพัฒนาได้ เพียงขอโอกาสสำหรับที่ยืนในสังคม 2) ต้องพร้อมให้ความช่วยเหลือคนพิการ ไม่นิ่งนอนใจ เมื่อพบว่าคนพิการประสบปัญหาและต้องการการช่วยเหลือในบทบาท “ชี้เป้า เฝ้าระวัง และร่วมช่วยเหลือ” 3) ต้องมีวิธีการจัดหา การประสานสิบทิศ และจัดการทรัพยากร ที่เป็นทุนทางสังคมให้เกิดประสิทธิภาพ และประสิทธิผล และ 4) ควรสนับสนุนให้มีการเชื่อมโยงระหว่างเครือข่ายกับเครือข่าย เพื่อให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น ด้วยการมีกิจกรรมร่วมกัน
ทั้งนี้ ภายในงานมีกิจกรรมที่สำคัญ ประกอบด้วย การบรรยายเรื่อง “กฏหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองสิทธิของทุกช่วงวัย/สิทธิพลเมือง” การบรรยายเรื่อง “ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคนพิการ และสิทธิประโยชน์กับคนพิการ” การบรรยายเรื่อง “การทำงานเชิงรุกของเครือข่ายด้านสังคมในพื้นที่” การอภิปรายเรื่อง “การคัดกรองคนพิการ การพัฒนาทักษะและการดูแลช่วยเหลือคนพิการในการดำรงชีวิต” การบรรยายเรื่อง “บทบาทภารกิจของเครือข่ายด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการในชุมชน” จาก ที่ปรึกษากฎหมายกระทรวง พม. นักกายภาพบำบัดสถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพแห่งชาติ ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดนนทบุรี นายกสมาคมคนพิการนนทบุรี และเจ้าหน้าที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดนนทบุรี เป็นวิทยากรให้ความรู้แก่กลุ่มเป้าหมายในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี
“การจัดอบรมในวันนี้ ดิฉันหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกท่านที่เข้าร่วมอบรมและด้วยจิตที่พร้อมในการเสียสละ และพร้อมที่จะช่วยเหลือผู้อื่นร่วมเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการในชุมชน เพื่อร่วมกันให้ความช่วยเหลือเพื่อนบ้านญาติพี่น้องในชุมชุน อันจะนำไปสู่สังคมเข้มแข็งที่แบ่งปัน ไม่ทอดทิ้งกัน เพื่อนำประเทศไทยไปสู่ความ “มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” ตามวิสัยทัศน์ของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ต่อไป” นางธนาภรณ์ กล่าวในตอนท้าย