ไทยเตรียมผลักดัน “วัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช” เข้าสู่บัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) ของศูนย์มรดกโลก

เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2567 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ครั้งที่ 2/2567 โดยมีสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมศิลปากร กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมองค์การระหว่างประเทศ เป็นฝ่ายเลขานุการ เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม 801 ชั้น 8 อาคารสำนักงานใหญ่ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) มีผู้ทรงคุณวุฒิ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง โดยที่ประชุมรับทราบความคืบหน้าการนำเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม “วัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช” เพื่อขอรับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลก และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดดำเนินการและประสานงาน จัดทำข้อมูลส่งให้ศูนย์มรดกโลกต่อไป

ทั้งนี้ วัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้รับการบรรจุไว้ในบัญชีรายชื่อเบื้องต้นของศูนย์มรดกโลก เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2555 ภายใต้เกณฑ์คุณค่าความโดดเด่นอันเป็นสากล (Outstanding Universal Value, OUV) จำนวน 3 ข้อ คือ ข้อที่ 1 ข้อ 2 และ ข้อ 6 โดยวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารเป็นวัดที่แสดงถึงความเชื่อทางพุทธศาสนาผ่านการออกแบบและการวางผังโดยยังคงรักษาโครงสร้างสถาปัตยกรรมเดิมของศตวรรษที่ 13 ไว้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ เป็นเจดีย์ทรงระฆังที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย เกี่ยวพันกับวัฒนธรรมและความเชื่อที่มีต่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและคำสอนของพระองค์

ขณะเดียวกัน ที่ประชุมยังได้รับพิจารณารายงานสถานภาพการอนุรักษ์แหล่งมรดกโลก จำนวน 3 แหล่ง ได้แก่ พื้นที่กลุ่มป่าดงพญาเย็น – เขาใหญ่ พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน และเมืองโบราณศรีเทพและศาสนสถานสมัยทวารวดีที่เกี่ยวข้อง โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบทั้ง 3 แหล่ง ยืนยันว่าไม่มีการฟื้นฟู การเปลี่ยนแปลง และ/หรือ การก่อสร้างใหม่ ที่ตั้งใจให้เกิดขึ้นภายในแหล่ง รวมถึงแนวกันชน และ/หรือ แนวเชื่อมต่อ หรือพื้นที่อื่น ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อคุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากล รวมทั้งความเป็นของแท้และความสมบูรณ์ของแหล่ง และมอบหมายให้ สผ. จัดส่งรายงานสถานภาพการอนุรักษ์แหล่งมรดกโลก ทั้ง 3 แหล่ง ต่อศูนย์มรดกโลกต่อไป

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้พิจารณาความคืบหน้า “รายงานการประเมินผลกระทบต่อแหล่งมรดกโลก นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ของโครงการรถไฟความเร็วสูงสถานีอยุธยา” และได้มอบหมาย สผ.ดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ในการขับเคลื่อนการประเมินผลกระทบต่อแหล่งต่าง ๆ (Heritage Impact Assessments: HIAs) ภายใต้บริบทของแหล่งมรดกโลก จากนั้นให้รายงานผลการดำเนินงานต่อคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกรับทราบต่อไป