กรุงเทพฯ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 – สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ร่วมกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย โดยโครงการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลและชายฝั่ง (Climate, Coastal, and Marine Biodiversity: CCMB) จัดการประชุม CBD COP16 Debrief “เดินหน้าสู่เป้าหมาย ท้าทายโลกเปลี่ยนแปลง” ในวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 ณ โรงแรมอมารี วอเตอร์เกท กรุงเทพ เพื่อเผยแพร่สาระสำคัญจากการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ สมัยที่ 16 (16th Conference of the Parties to the Convention on Biological Diversity: CBD COP16) และต่อยอดความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทยให้บรรลุเป้าหมายระดับชาติ พ.ศ. 2573 (ค.ศ. 2030) และแผนปฏิบัติการด้านความหลากหลายทางชีวภาพระดับชาติ ฉบับที่ 5 พ.ศ. 2566 – 2570 (5th National Biodiversity Strategies and Action Plans: 5th NBSAP)
การประชุมฯ ได้รับเกียรติจาก นายประเสริฐ ศิรินภาพร เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เป็นประธานกล่าวเปิดงานประชุมฯ และปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “We are the Part of the Global Plan” นายฮานส์ อูลริช ซูดเบค อุปทูตสถานเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ประจำประเทศไทย กล่าวต้อนรับ และนางกตัญชลี ธรรมกุล ผู้อำนวยการกองจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ สผ. บรรยายสรุปสาระสำคัญจากการประชุม CBD COP16 เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม – 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 ณ เมืองซานดิเอโก เดอ กาลิ สาธารณรัฐโคลอมเบีย ซึ่งประเทศไทยได้แสดงเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนการดำเนินงานร่วมกับภาคีอนุสัญญาฯ ในประเด็น 1) การขยายพื้นที่อนุรักษ์นอกเขตพื้นที่คุ้มครอง (Other Effective Conservation Measures: OECMs) 2) การส่งเสริมโมเดลเศรษฐกิเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model) สู่เวทีโลก 3) สนับสนุนกลไกการแบ่งปันผลประโยชน์จากการใช้ทรัพยากรพันธุกรรมอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม และ 4) การริเริ่มกลไกการสนับสนุนทางการเงินด้านความหลากหลายทางชีวภาพ โดยการดำเนินงานในประเด็นดังกล่าวจะเป็นการผลักดันความร่วมมือให้บรรลุเป้าหมายหยุดยั้งการสูญเสียและฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพภายใน ปี พ.ศ. 2573 และให้มนุษยชาติมีคุณภาพชีวิตที่ดีควบคู่กับธรรมชาติที่สมบูรณ์ภายในปี พ.ศ. 2593
การประชุมฯ CBD COP16 Debrief ประกอบด้วยเวทีเสวนา “เรื่องเด่นประเด็นร้อน ใน CBD COP16”จากวงเสวนาของผู้เข้าร่วมประชุม ทำให้รับรู้ถึงความสำคัญและแนวทางการดำเนินงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพของโลก รวมถึงการเตรียมความพร้อมในการพัฒนางานตามภารกิจของหน่วยงานให้บรรลุเป้าหมายชาติและแผนปฏิบัติการความหลากหลายทางชีวภาพระดับชาติ เพื่อบรรลุแผนงานความหลากหลายทางชีวภาพระดับโลกต่อไป
ในช่วงบ่าย กิจกรรมเวทีเสวนา “ภาคีร่วมขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายชาติและแผนปฏิบัติการด้านความหลากหลายทางชีวภาพระดับชาติ” ได้รับเกียรติจากตัวแทนหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญ มาช่วยวิเคราะห์ช่องว่างและเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาอุปสรรคของการดำเนินงานด้วยการเชื่อมต่อกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลักดันงานความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย โดยมีผู่แทนจากหน่วยงานต่างๆ ร่วมเสวนา ได้แก่ คุณธันยพร กริชติทายาวุธ สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็ก(GCNT) คุณสุวีร์ งานดี สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) คุณศุพิสิฐ จิตร์วิจักษณ์ องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) คุณกานต์รวี ศรีแสงทรัพย์ เครือข่ายเยาวชนระดับโลกด้านความหลากหลายทางชีวภาพประเทศไทย (Global Youth Biodiversity Network for Thailand: GYBN Thailand) และคุณศุภโชค จิตต์พิศาล ผู้แทนโครงการ CCMB องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมันประจำประเทศไทย
จากการประชุม CBD COP16 ในครั้งนี้ สผ. ในฐานะหน่วยงานประสานงานกลางด้านความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย จะร่วมกับทุกภาคส่วนเร่งขับเคลื่อนการดำเนินงานตามเป้าหมายชาติ (National Targets) และแผนปฏิบัติการด้านความหลากหลายทางชีวภาพระดับชาติ(NBSAPs) โดยเน้นการดำเนินงาน ดังนี้ 1) การขยายพื้นที่อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพนอกเขตพื้นที่คุ้มครองร่วมกับประชาคมโลกให้ได้ร้อยละ 30 ภายในปี ค.ศ. ๒๐๓๐ ๒) การแลกเปลี่ยนประสบการณ์และการดำเนินงานกับภาคีอนุสัญญาฯ เกี่ยวกับเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model) 3) การผลักดันร่าง พ.ร.บ. ความหลากหลายทางชีวภาพ พ.ศ. …. ให้มีผลบังคับใช้ 4) การเตรียมการให้สัตยาบันเข้าเป็นภาพิธีสารนาโงยาว่าด้วยการเข้าถึงทรัพยากรพันธุกรรมและการแบ่งปันผลประโยชน์ที่ได้จากการใช้ทรัพยากรพันธุกรรมอย่างยุติธรรมและเท่าเทียม 5) การสนับสนุนกลไกระดมทรัพยากรทางการเงินในรูปแบบใหม่ ๆ ให้เพียงพอต่อการดำเนินงานด้านการอนุรักษ์ใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน 6) การติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานตามเป้าหมายและแผนระดับชาติเพื่อการจัดทำรายงานแห่งชาติว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพฉบับที่ 7
GIZ ประจำประเทศไทย โดยโครงการ CCMB จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย โดยเน้น1) การบูรณาการทั้งในด้านนโนบายและขับเคลื่อนงานร่วมกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภาคการท่องเที่ยว และภาคทะเลและชายฝั่ง 2) การดำเนินงานร่วมกับ สผ. ในการพัฒนาหลักเกณฑ์ และแนวทางการดำเนินงานเพิ่มพื้นที่อนุรักษ์ OECMs ในพื้นที่ทางทะเลและชายฝั่ง 3) การส่งเสริมบทบาทวิทยาศาสตร์พลเมือง (Citizen Science) ในการอนุรักษ์และการติดตามประเมินความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศ 4) การสนับสนุนการจัดทำแผนเสริมสร้างสมรรถนะด้านการเข้าถึงทรัพยากรพันธุกรรมและการแบ่งปันผลประโยชน์จากการใช้ทรัพยากรพันธุกรรมอย่างยุติธรรมและเท่าเทียมกัน (Access and Benefit Sharing: ABS) 5) การเสริมสร้างองค์ความรู้และแนวทางการปฏิบัติในการใช้ธรรมชาติมาช่วยแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม (Nature-based Solution: NbS) ซึ่งจะช่วยผลักดันให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายชาติและแผนปฏิบัติการด้านความหลากหลายทางชีวภาพระดับชาติ ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานร่วมกับประชาคมโลกในการบรรลุเป้าหมาย KM – GBF ในปี ค.ศ. 2030
(hashtags for social media) + Tag ONEP
#CBD COP16 #PeaceWithNature #NBSAP #AccessandBenefitsSharing #NaturePositive #CCMB #ClimateCoastalandMarineBiodiversity #GIZ #ONEP #MoNRE #Biodiversity #OECM