สธ. จับมือ 3 หน่วยงาน ลดความเสี่ยงเสียชีวิตในผู้ป่วยที่ต้องใช้ไฟฟ้าเดินเครื่องมือทางการแพทย์เพื่อการรักษา

กระทรวงสาธารณสุข การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การไฟฟ้านครหลวง และสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานลงนามความร่วมมือบูรณาการเพื่อการคุ้มครองผู้ใช้พลังงานที่เป็นผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าในการเดินเครื่องมือทางการแพทย์เพื่อการรักษาพยาบาล ไม่ให้ได้รับอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย หรือสุขภาพ ที่อาจเกิดขึ้นจากการงดจ่ายกระแสไฟฟ้า

วันที่ 25 พฤศจิกายน 2567 ที่กระทรวงพลังงาน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข มอบหมายให้ นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ร่วมพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือ การบูรณาการเพื่อการคุ้มครองผู้ใช้พลังงานที่เป็นผู้ป่วย ซึ่งมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ไฟฟ้าในการเดินเครื่องมือทางการแพทย์เพื่อการรักษาพยาบาล กับ นายศุภชัย เอกอุ่น ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค นายวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง และนายพูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงาน คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) โดยมี นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานและสักขีพยานในพิธี

นพ.วีรวุฒิ กล่าวว่า จากการสำรวจข้อมูลผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงที่มีความจำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าในการเดินเครื่องมือ ทางการแพทย์ทั่วประเทศ มีประมาณ 52,543 ราย โดยกระทรวงสาธารณสุขต้องขอขอบคุณและยินดีให้การสนับสนุน อย่างเต็มที่ในการผลักดันและลดความเสี่ยงการเสียชีวิตของผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าในการเดินเครื่องมือ ทางการแพทย์ และสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและทุกภาคส่วน ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขมีฐานข้อมูลผู้ป่วยในพื้นที่และมีเครือข่ายสุขภาพที่เข้มแข็งครอบคลุมถึงระดับตำบล ทั้ง รพ.สต. และ อสม. ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการเข้ามาประสานและทำให้การคุ้มครองสิทธิผู้ป่วย รวมไปถึงการพัฒนาฐานข้อมูลผู้ป่วยเป็นปัจจุบัน ช่วยลดความเสี่ยงในการเสียชีวิตของผู้ป่วยให้ดียิ่งขึ้นได้

นพ.วีรวุฒิ กล่าวต่อว่า สำหรับกรอบความร่วมมือครั้งนี้ ทั้ง 4 หน่วยงาน จะร่วมกันกำหนดแนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินงาน 3 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้ใช้พลังงานที่เป็นผู้ป่วยฯ เพื่อไม่ให้ได้รับอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย หรือสุขภาพ การปรับปรุงกระบวนการ โดยนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้เพื่อยกระดับการปฏิบัติงาน รวมถึงการบริหารจัดการข้อมูลที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 2) ด้านการปฏิบัติงานในระดับจังหวัดหรือเขตพื้นที่ โดยการบูรณาการแต่ละหน่วยงานในระดับพื้นที่ให้มีความคล่องตัวและรวดเร็ว รวมทั้งร่วมกันเก็บและตรวจสอบข้อมูลผู้ใช้พลังงานที่เป็นผู้ป่วยฯ ให้เป็นปัจจุบัน และ 3) ด้านการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ให้ผู้ใช้พลังงานเข้าใจสิทธิ การยกเว้นการงดจ่ายไฟฟ้าสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าหรือผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีบุคคลอยู่ในความดูแล หรือมีผู้ป่วยที่ต้องใช้ไฟฟ้าในการเดินเครื่องมือทางการแพทย์เพื่อการรักษาพยาบาล