อย. หนุนคุ้มครองผู้บริโภค ปรับระบบทั่วประเทศรับมือยุคดิจิทัล

อย. ผนึกกำลัง สสจ. ทั่วประเทศ ขับเคลื่อนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพปี 2568 สร้างความมั่นใจในความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์สุขภาพ มุ่งเน้นการพัฒนาระบบการกำกับดูแลให้เป็นสากล ทันสมัย โปร่งใส ตอบรับยุคดิจิทัล และสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้มั่งคั่ง ยั่งยืน

วันที่ 25 พฤศจิกายน 2567 นายแพทย์สุรโชค ต่างวิวัฒน์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เป็นประธานเปิดงานประชุมถ่ายทอดยุทธศาสตร์และนโยบายร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และร่วมจัดทำแผนงาน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 โดยมีผู้แทนจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง

นายแพทย์สุรโชค ต่างวิวัฒน์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า เทคโนโลยีปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ผู้บริโภคเข้าถึงสื่อโฆษณาหรือผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายหรือไม่ปลอดภัยได้ง่าย ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัย อย. จึงปรับแนวทางการดำเนินงานให้รับกับสถานการณ์ดังกล่าว โดยในปี 2568 อย. มีแนวทางการดำเนินงานมุ่งเน้นความเป็นสากล ทันสมัย โปร่งใส ร่วมสร้างความมั่งคั่ง สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน “ติดปีก อย. ไทย” (Elevate Thai FDA) โดยยกระดับการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคและการอนุมัติอนุญาตผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เป็นมาตรฐานสากล ทันสมัย อำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการทุกระดับ พัฒนาระบบติดตามสถานะคำขอฯ ให้โปร่งใส เป็นธรรม ส่งเสริมผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ช่วยลดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) อีกทั้งสร้างความมั่งคั่งโดยการสนับสนุนผู้ประกอบการรายใหม่และส่งเสริมผู้ประกอบการเศรษฐกิจฐานราก โดยบูรณาการการทำงานร่วมกับ สสจ. และเครือข่าย อย. ทั่วประเทศ

ทั้งนี้ ในการทำงานเชื่อมโยงกับส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ เริ่มตั้งแต่ระดับนโยบาย ยุทธศาสตร์ ทำให้การทำงานเป็นเอกภาพ ใช้มาตรฐานการบริการระดับสากลเหมือนกันทุกจังหวัด มีความโปร่งใส ตรวจสอบ ติดตามได้ โดย อย. มีการจัดทำแผนการถ่ายโอนภารกิจและกระจายอำนาจสู่ส่วนภูมิภาค ซึ่งจะมีการเตรียมความพร้อมและให้การสนับสนุนด้านต่าง ๆ รวมทั้งการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านงานคุ้มครองผู้บริโภคทั้งระบบ ครบวงจร ซึ่งการพัฒนาในทุกด้าน อย. ให้ความสำคัญกับฐานข้อมูล เพื่อนำไปใช้วางแผนงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนร่วมสร้างงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อพัฒนางานคุ้มครองผู้บริโภค

เลขาธิการฯ อย. กล่าวเพิ่มเติมว่า การประชุมครั้งนี้เป็นก้าวสำคัญในการขับเคลื่อนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพทั้งประเทศ สร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภค เป็นการยืนยันถึงความมุ่งมั่นในการดูแลสุขภาพของประชาชนว่าจะได้รับผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ปลอดภัย ตลอดจนผู้ประกอบการไทยได้มาตรฐานและสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้