ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประชุมขับเคลื่อนนโยบายยกระดับ 30 บาท รักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ระยะที่ 4 มุ่งเสริมศักยภาพบุคลากรในการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีสนับสนุนระบบบริการสุขภาพดิจิทัลให้เกิดความเข้มแข็ง ช่วยให้ประชาชนทั่วประเทศเข้าถึงบริการที่สะดวก รวดเร็ว ลดความเหลื่อมล้ำ ลดแออัด ลดค่าใช้จ่าย
วันที่ 25 พฤศจิกายน 2567 ที่ โรงแรมเอเชีย แอร์พอร์ท ดอนเมือง กทม. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการการขับเคลื่อนนโยบายยกระดับ 30 บาท รักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ระยะที่ 4 โดยกล่าวว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 เป็นต้นมา มีการขับเคลื่อนยกระดับ 30 บาท รักษาทุกที่ฯ มาแล้ว 3 ระยะ วันนี้เป็นการขับเคลื่อนระยะที่ 4 ซึ่งจะเป็นการดำเนินการครอบคลุมทั่วประเทศ การประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ครั้งนี้ จึงเป็นโอกาสดีที่จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความคิดเห็นและประสบการณ์ในระยะที่ผ่านมา เพื่อนำไปปรับใช้ในการดำเนินงานตามบริบทของพื้นที่ได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ให้ประชาชนได้รับการบริการอย่างทั่วถึง ลดความเหลื่อมล้ำ ลดแออัด และลดค่าใช้จ่ายในการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพโดยเฉพาะประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลหรือกลุ่มเปราะบาง รวมทั้งยังเป็นการสร้างเครือข่ายการทำงานระหว่างหน่วยงานต่างๆ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเกิดความร่วมมือในการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีที่จะช่วยสนับสนุนระบบบริการสุขภาพดิจิทัลให้เกิดความเข้มแข็ง ส่งผลให้ประชาชนมีสุขภาพกาย สุขภาพใจที่ดี มีภูมิคุ้มกัน สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจและพัฒนาประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
ด้าน นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ครั้งนี้ สำนักสุขภาพดิจิทัล กระทรวงสาธารณสุข จัดขึ้นระหว่างวันที่ 25-26 พฤศจิกายน 2567 เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบบริการรองรับ “การยกระดับ 30 บาท รักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว”ซึ่งจะครอบคลุมตั้งแต่ระบบบันทึกข้อมูลสำหรับหน่วยบริการประเภทต่างๆ ระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตน ระบบให้บริการ และระบบเชื่อมต่อกับประชาชนผ่าน LINE Official Account และ Application ให้สามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ผู้บริหาร ผู้ปฏิบัติงานด้านดิจิทัลใน 12 เขตสุขภาพ และผู้ปฏิบัติงานในสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป ใน 32 จังหวัดที่เหลือ โดยมีการเรียนรู้กรอบการขับเคลื่อน Cyber Security การขับเคลื่อนโรงพยาบาลอัจฉริยะ และระบบบริการสุขภาพดิจิทัลทั้งหมด ตลอดจนรับฟังผลการดำเนินงานของจังหวัดนำร่องทั้ง 3 ระยะที่ผ่านมา