ตามที่ปรากฏเป็นข่าวทางสื่อมวลชนว่า คณะกรรมการสอบสวนตามความในมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินมีมติเป็นเอกฉันท์ เห็นสมควรไม่เพิกถอนหรือแก้ไขหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินบริเวณเขากระโดง นั้น กรมที่ดิน ขอเรียนชี้แจงในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
1.การดำเนินการตามคำพิพากษาศาลยุติธรรม จำนวน 3 คดี
1.1 ประเด็นการดำเนินการตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 842 – 876/2560 ลงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2560 เป็นกรณีที่ราษฎร จำนวน 35 ราย เป็นโจทก์ฟ้องการรถไฟแห่งประเทศไทย เนื่องจากโจทก์ทั้ง 35 ราย ได้ยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินต่อสำนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ การรถไฟฯ คัดค้านการออกโฉนดที่ดินดังกล่าวโดยอ้างว่าเป็นที่ดินของการรถไฟฯ ซึ่งศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาว่า พยานหลักฐานของโจทก์ทั้ง 35 ราย รับฟังไม่ได้ว่าโจทก์ทั้ง 35 ราย มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทในอันที่จะขอออกโฉนดที่ดินได้ กรมที่ดินได้แจ้งให้จังหวัดบุรีรัมย์ดำเนินการยกเลิกใบไต่สวนของราษฎร จำนวน 35 ราย ที่ฟ้องคดี พร้อมทั้งจำหน่าย ส.ค. 1 ออกจากทะเบียนการครอบครองที่ดินแล้ว
1.2 ประเด็นการดำเนินการตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8027/2561 ลงวันที่ 22 พฤศจิกายน 2561 เป็นกรณีที่ราษฎรเป็นโจทก์ฟ้องการรถไฟแห่งประเทศไทย เนื่องจากโจทก์ได้ยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินต่อสำนักงานที่ดิน จังหวัดบุรีรัมย์ การรถไฟฯ คัดค้านการออกโฉนดที่ดินดังกล่าวโดยอ้างว่าเป็นที่ดินของการรถไฟฯ โดยศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาว่า โจทก์ไม่ใช่ผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท อธิบดีกรมที่ดินได้มีคำสั่ง ที่ 2992/2564 ลงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2564 ให้แก้ไขรูปแผนที่และเนื้อที่ใน น.ส. 3 ข. เลขที่ 200 หมู่ที่ 9 ตำบลเสม็ด อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ (บางส่วน) ตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน แล้ว
1.3 ประเด็นการดำเนินการตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 คดีหมายเลขแดงที่ 1112/2563 ลงวันที่ 22 เมษายน 2563 เป็นกรณีที่การรถไฟฯ เป็นโจทก์ฟ้องราษฎร เรื่อง ขับไล่ เพิกถอนโฉนดที่ดินและหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้มีคำพิพากษาว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพิพาท ให้เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 2971, 5272 และ น.ส. 3 เลขที่ 206 หมู่ที่ 9 ตำบลเสม็ด อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ การรถไฟฯ ได้แจ้งให้กรมที่ดินดำเนินการตามคำพิพากษาของศาล ซึ่งกรมที่ดินได้แจ้งให้จังหวัดบุรีรัมย์ดำเนินการหมายเหตุการเพิกถอนโฉนดที่ดินและหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 แล้ว
ทั้ง 3 คดี ตามคำพิพากษาของศาลยุติธรรม กรมที่ดินได้ดำเนินการครบถ้วนแล้ว ซึ่งคำพิพากษาหรือคำสั่งใด ๆ ให้ถือว่าผูกพันเฉพาะคู่ความในคดีของศาลที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น ตามนัยมาตรา 145 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง โดยกรมที่ดินไม่ได้เข้าไปเป็นคู่ความในคดีดังกล่าวแต่อย่างใด
2.การดำเนินการตามคำพิพากษาศาลปกครอง
ประเด็นการดำเนินการตามคำพิพากษาศาลปกครองกลางในคดีหมายเลขแดงที่ 582/2566 ลงวันที่ 30 มีนาคม 2566 ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาให้อธิบดีกรมที่ดินมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามความในมาตรา 61 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด พร้อมทั้งตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับแนวทางหรือวิธีการดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษา โดยให้การรถไฟฯ (ผู้ฟ้องคดี) ร่วมกับคณะกรรมการสอบสวนฯ ทำการตรวจสอบแนวเขตที่ดินบริเวณเขากระโดง เพื่อหาแนวเขตที่ดินที่เป็นของการรถไฟฯ ตามคำพิพากษาศาลฎีกาและศาลอุทธรณ์ ภาค 3 ซึ่งอธิบดีกรมที่ดิน ได้มีคำสั่งที่ 1195 – 1196/2566 ลงวันที่ 12 พฤษภาคม 2566 ตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามความในมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน เพื่อดำเนินการตามคำพิพากษาศาลปกครองกลางดังกล่าวแล้ว และคณะกรรมการสอบสวนฯ ตาม ม.61 ได้กำหนดกรอบแนวทางในการรังวัดเพื่อตรวจสอบหาแนวทางเขตที่ดินของทางรถไฟแห่งประเทศไทยบริเวณเขากระโดง ในการประชุมครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2567 โดยที่ประชุมได้ข้อยุติว่า การดำเนินการรังวัดทำแผนที่ดังกล่าว กรมที่ดินต้องถือปฏิบัติตามระเบียบกรมที่ดิน ว่าด้วยการรับคำขอรังวัด การรังวัดและการเรียกค่าใช้จ่ายในการรังวัดเฉพาะราย พ.ศ. 2547 ซึ่งในการนี้การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ดำเนินการยื่นคำขอรังวัดทำแผนที่บริเวณเขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ และจะส่งข้อมูลค่าพิกัดกรอบพื้นที่บริเวณเขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ ให้คณะกรรมการสอบสวนภายในกรอบระยะเวลาต่อไป ซึ่งต่อมาคณะทำงานร่วมในการรังวัดได้รายงานสรุปผลการรังวัดนำชี้แนวเขตร่วมระหว่างสำนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ และการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยเป็นการรังวัดเพื่อตรวจสอบตำแหน่งขอบเขตโดยรอบและจัดทำแผนที่ทางกายภาพเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการสอบสวนฯ ม. 61
3.ประเด็นการรับฟังพยานหลักฐานของคณะกรรมการสอบสวนฯ และกรมที่ดินพิจารณายุติเรื่อง
การสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนฯ ซึ่งได้ดำเนินการสอบสวนแล้ว ปรากฏว่า แผนที่ที่การรถไฟฯ กล่าวอ้าง ซึ่งได้จัดทำขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2539 เป็นการจัดทำขึ้นตามมติที่ประชุม กบร. จังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรกลุ่มสมัชชาคนจน เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2539 โดยผู้ฟ้องคดีนำแผนที่ดังกล่าว ไปใช้ในการต่อสู้คดี ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 842 – 876/2560 และ ที่ 8027/2561 จึงไม่ใช่แผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินแลอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นเพื่อสร้างทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ พระพุทธศักราช 2464 ประกอบกับตำแหน่งที่ตั้งและขอบเขตของที่ดินการรถไฟซึ่งมีการกล่าวอ้างว่ามีระยะทาง 8 กิโลเมตร แต่จากการตรวจสอบรายงานผลการถ่ายทอดแนวเขตที่ดินการรถไฟฯ ของคณะทำงานดำเนินการถ่ายทอดแนวเขตที่ดิน ตามคำสั่งกรมที่ดิน ที่ 681/2566 ซึ่งคณะทำงานฯ ได้ตรวจสอบทางรถไฟโดยใช้วิธีการอ่านแปลภาพถ่ายทางอากาศ ปี พ.ศ. 2497, พ.ศ. 2511, พ.ศ. 2529 และ พ.ศ. 2557 ปรากฏว่าทางรถไฟมีระยะทางประมาณ 6.2 กิโลเมตร และได้ลงสำรวจเส้นทางรถไฟในพื้นที่จริงด้วยการรังวัดค่าพิกัดด้วยเครื่องรับสัญญาณดาวเทียมแบบจลน์ (RTK) สามารถยืนยันตำแหน่งทางรถไฟที่ปรากฏในภาพถ่ายทางอากาศว่า ตรงกับตำแหน่งรางรถไฟบนที่ดินจริง ประกอบกับการตรวจสอบจากแผนที่ภูมิประเทศ ลำดับชุดที่ L 708 ซึ่งเป็นแผนที่ภูมิประเทศชุดแรกในประเทศไทยจัดทำโดยกรมแผนที่ทหาร (ในช่วง ปี พ.ศ. 2495 – 2500) มีความยาวของทางรถไฟประมาณ 6.2 กิโลเมตร เช่นกัน โดยมีข้อสังเกตที่สำคัญจากการดำเนินการของคณะทำงานดังกล่าวคือ จุดสิ้นสุดรางรถไฟในแต่ละชั้นปีที่ดำเนินการถ่ายทอดมีระยะสิ้นสุดไม่เท่ากันและมีความแตกต่างกันในช่วงปลายตั้งแต่หลักกิโลเมตรที่ 6 ถึงจุดสิ้นสุด มีทิศทางที่แตกต่างกัน โดยหากพิจารณาจากรางรถไฟจริง จุดสิ้นสุดของกิโลเมตรที่ 8 จะเบี่ยงไปทางด้านทิศตะวันออก และความกว้างของแนวเขตทางรถไฟ จากการตรวจสอบข้อมูลของคณะทำงานศึกษา แสวงหาหลักฐานและบูรณาการข้อมูลประวัติที่ดิน ตามคำสั่งกรมที่ดิน ที่ 91/2567 ลงวันที่ 18 มกราคม 2567 ที่ได้ศึกษาค้นคว้าเทียบเคียงจากพระราชกฤษฎีกาที่เกี่ยวข้อง และจากหนังสือกระทรวงโยธาธิการ ฉบับลงวันที่ 27 สิงหาคม รัตนโกสินทรศก 127 สันนิษฐานได้ว่าการกำหนดเขตสร้างทางรถไฟจะมีการกำหนดไว้เพียงระยะข้างละไม่เกิน 40 เมตร หรือ 20 วา สำหรับกรณีที่ศาลปกครองกลางตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับแนวทางหรือวิธีการดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษา โดยให้การรถไฟฯ (ผู้ฟ้องคดี) ร่วมกับคณะกรรมการสอบสวนฯ ทำการตรวจสอบแนวเขตที่ดินบริเวณเขากระโดง เพื่อหาแนวเขตที่ดินที่เป็นของการรถไฟฯ ตามคำพิพากษาศาลฎีกาและศาลอุทธรณ์ ภาค 3 คณะกรรมการสอบสวนฯ ไม่สามารถร่วมกับการรถไฟฯ เพื่อตรวจสอบแนวเขตรถไฟตามข้อสังเกตของศาลปกครองกลางได้ เนื่องจากเป็นการร่วมกับคู่กรณีในการพิจารณาทางปกครอง ทำให้สูญเสียความเป็นกลางและมีผลทำให้ความเห็นหรือมติของคณะกรรมการสอบสวนฯ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย อีกทั้งเมื่อพิจารณาเกี่ยวกับประเด็นการออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินแล้วเห็นว่า เป็นการดำเนินการไปตามขั้นตอนและชอบด้วยกฎหมายแล้ว ประกอบกับเมื่อพิจารณาประเด็นคำคัดค้านพยานหลักฐานของผู้มีส่วนได้เสียแล้วเห็นว่า รับฟังได้ คณะกรรมการสอบสวนฯ จึงมีมติยืนยันความเห็นว่าไม่สมควรที่จะเพิกถอนหรือแก้ไขหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินด้วยมติเป็นเอกฉันท์ จนกว่าจะได้มีพยานหลักฐานที่สามารถใช้พิสูจน์ข้อเท็จจริงให้เป็นที่ยุติได้ รวมถึงเอกสารหลักฐานทางกฎหมายที่สามารถพิสูจน์กรรมสิทธิ์ ที่ดินของการรถไฟฯ
ดังนั้น การดำเนินการรับฟังพยานหลักฐานของคณะกรรมการสอบสวนฯ เป็นไปด้วยความรอบคอบ และเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย โดยรับฟังทั้งพยานหลักฐานที่ปรากฏในการพิจารณาคดีของศาลยุติธรรม พยานหลักฐานของการรถไฟฯ และพยานหลักฐานที่คณะกรรมการสอบสวนฯ แสวงหามาประกอบการพิจารณา ซึ่งคณะกรรมการสอบสวนฯ เห็นว่า พยานหลักฐานที่รวบรวมได้ ยังมีความแตกต่างกันในสาระสำคัญอันจะนำมาพิสูจน์ข้อเท็จจริงให้เป็นที่ยุติได้ การที่จะนำพยานหลักฐานที่ยังไม่เป็นที่ยุติไปใช้ให้เกิดผลกระทบในทางเสียหายต่อสถานภาพของสิทธิและหน้าที่ของประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการนำไปใช้ในการจัดทำคำสั่งทางปกครอง อาจส่งผลกระทบให้คำสั่งทางปกครองนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อพิจารณาผลการสอบสวนและความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนฯ ซึ่งเห็นว่ายังไม่มีพยานหลักฐานปรากฏชัดแจ้งเพียงพอให้รับฟังได้ว่า ได้มีการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายจะพิจารณาเพิกถอนหรือแก้ไข ตามนัยข้อ 12 ของกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการสอบสวนและการพิจารณาเพิกถอนหรือแก้ไขการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม หรือการจดแจ้งเอกสารรายการจดทะเบียนโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย พ.ศ. 2553 อธิบดีจึงได้เห็นชอบตามที่คณะกรรมการฯ เสนอยุติเรื่องในกรณีนี้ ตามความเห็นของคณะกรรมการฯ ที่ได้เสนอมา ว่ายังไม่มีพยานหลักฐานปรากฏชัดแจ้งเพียงพอให้รับฟังได้ว่า ได้มีการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายจะพิจารณาเพิกถอนหรือแก้ไข ตามนัยข้อ 12 ของกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการสอบสวนและการพิจารณาเพิกถอนหรือแก้ไขการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม หรือการจดแจ้งเอกสารรายการจดทะเบียนโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย พ.ศ. 2553 พร้อมทั้งแจ้งให้การรถไฟทราบว่า หากการรถไฟฯ เห็นว่าตนมีสิทธิในที่ดินดีกว่าก็เป็นเรื่องที่ผู้มีสิทธิในที่ดินจะต้องไปดำเนินการเพื่อพิสูจน์สิทธิในกระบวนการยุติธรรมทางศาลต่อไป