“เดชอิศม์” หนุนชายไทย รู้เท่าทันมะเร็งต่อมลูกหมากฯ และเข้ารับการตรวจคัดกรอง ลดการป่วยและเสียชีวิต

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขเผย ชายไทยเสียชีวิตจากมะเร็งต่อมลูกหมาก ปีละ 1,700 ราย ป่วยรายใหม่ปีละ 3,700 ราย หนุนสร้างความรู้ความเข้าใจ และการเข้าถึงบริการตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมาก เพื่อวินิจฉัยและรักษาได้อย่างรวดเร็ว โอกาสหายขาดสูง

วันที่ 25 พฤศจิกายน 2567 ที่โรงพยาบาลสงขลา จ.สงขลา นายเดชอิศม์ ขาวทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดโครงการรณรงค์ตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากและภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชาย ครั้งที่ 4 โดยมี นพ.สมบัติ ผดุงวิทย์วัฒนา สาธารณสุขนิเทศก์ เขตสุขภาพที่ 12 นพ.สงกรานต์ ไหมชุม นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา นพ.รัตนพล ล้อประเสริฐกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสงขลา คณะผู้บริหาร และประชาชนในพื้นที่ เข้าร่วม

นายเดชอิศม์ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบาย คนไทยห่างไกลโรคและภัยสุขภาพ ส่งเสริมสุขภาพในทุกมิติ รวมทั้งสานต่อการคัดกรองป้องกันมะเร็ง และมะเร็งครบวงจร ซึ่งโรคมะเร็งเป็นสาเหตุอันดับต้นๆ ของการเสียชีวิตของประชากรไทย และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมะเร็งต่อมลูกหมากพบมากเป็นอันดับ 4 ของมะเร็ง ที่พบทั้งหมดในเพศชาย แต่ละปีจะมีผู้เสียชีวิต ประมาณ 1,700 ราย และมีผู้ป่วยรายใหม่ ประมาณ 3,700 ราย ซึ่งโรคนี้ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดแต่มีการศึกษาวิจัย พบว่าปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยง เช่น อายุที่มากขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป หรือผู้ที่มีประวัติญาติสายตรงเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก เป็นต้น ดังนั้นการตรวจคัดกรอง จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ค้นพบผู้ป่วยตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ทำให้ได้รับการวินิจฉัยและรักษาได้อย่างรวดเร็ว และมีโอกาสหายขาดจากโรคสูงขึ้น

ด้าน นพ.รัตนพล กล่าวว่า มะเร็งต่อมลูกหมากแบ่งเป็น 4 ระยะ ซึ่งแต่ละระยะการรักษาจะแตกต่างกัน อาจเป็นการผ่าตัด ให้ยาฮอร์โมน ใช้รังสีรักษา หรือให้ยาเคมีบำบัด โดยอาจใช้วิธีการเดียวหรือหลายวิธีรวมกัน ขึ้นอยู่กับอาการ อายุ สุขภาพผู้ป่วยและระยะของโรค ทั้งนี้ มะเร็งต่อมลูกหมากถือเป็นภัยเงียบในผู้ชาย เนื่องจากในระยะเริ่มต้นจะไม่มีอาการให้เห็นเด่นชัด ส่วนใหญ่จึงไม่ทราบว่าป่วย รวมถึงยังมีความเข้าใจผิดว่าถ้าเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากจะต้องตัดอัณฑะทิ้ง ทำให้ไม่อยากเข้ารับการรักษา ผู้ป่วยจึงได้รับการรักษาล่าช้าและต้องเสียชีวิตในที่สุด จึงได้จัดโครงการฯ ขึ้นเพื่อค้นหาผู้ป่วยตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ซึ่งจะช่วยลดความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นได้