สารคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เนื่องใน “วันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล” ประจำปี 2567

ความรุนแรงต่อสตรีถือเป็นปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน ที่ส่งผลกระทบต่อผู้ถูกกระทำทั้งด้านสุขภาพกายและสุขภาพจิต รวมทั้งส่งผลกระทบต่อผลิตผลทางสังคมและเศรษฐกิจโดยรวม จากข้อมูลของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พบว่าผู้หญิงถูกละเมิด ถูกกระทำรุนแรงทางร่างกายหรือจิตใจ เข้ารับการรักษาและแจ้งความร้องทุกข์ประมาณปีละ 30,000 คน รูปแบบของความรุนแรงที่ผู้หญิงถูกกระทำมีทั้งความรุนแรงทางกาย ทางเพศ และจิตใจ โดยความรุนแรงในครอบครัวยังเป็นปัญหาใหญ่ที่ผู้หญิงต้องเผชิญในพื้นที่ส่วนตัวจากการกระทำของคนใกล้ตัวคือคู่รักและบุคคลในครอบครัว อันมีรากเหง้าของปัญหาจากค่านิยมความเชื่อแบบชายเป็นใหญ่

ในพื้นที่สาธารณะ พบว่าความรุนแรงที่ผู้หญิงต้องเผชิญนอกจากการทำร้ายร่างกาย และการคุกคามทางเพศในการทำงานแล้ว ผู้หญิงยังถูกคุกคามทางเพศในพื้นที่ออนไลน์ ผู้หญิงซึ่งเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนถูกข่มขู่ คุกคาม หรือติดตามตัว จากความพยายามเข้าไปมีส่วนร่วมในโครงการของรัฐหรือกิจการของเอกชนที่ส่งผลกระทบต่อชุมชน ขณะที่ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อมยังมีอุปสรรคในการเข้าถึงบริการสาธารณสุขด้านการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย ทำให้มีความเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายต่อร่างกายและชีวิต นอกจากนี้ยังพบว่ามีผู้หญิงยากจนจำนวนไม่น้อยที่ถูกล่อลวงให้เข้าสู่ขบวนการรับจ้างอุ้มบุญข้ามชาติโดยไม่รู้กฎหมาย รู้เท่าไม่ถึงการณ์ และต้องกลายเป็นผู้กระทำความผิดฐานมีส่วนร่วมในกิจกรรมขององค์กรอาชญากรรมข้ามชาติจากการตั้งครรภ์แทน

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ยืนยันว่า ต้องไม่มีผู้หญิงคนใดถูกกระทำความรุนแรงทั้งทางร่างกาย ทางเพศ ทางจิตใจ ไม่ถูกคุกคามความปลอดภัยในร่างกาย ชีวิต และไม่ถูกล่อลวงให้เข้าไปเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมใด ๆ โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์

เนื่องในโอกาส “วันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล” (International Day for the Elimination of Violence against Women) 25 พฤศจิกายน ประจำปี 2567 นี้ และเนื่องในโอกาสครบรอบ 30 ปีของปฏิญญาปักกิ่งและแผนปฏิบัติการเพื่อความก้าวหน้าของสตรี (Beijing Declaration and Platform for Action – BDPA) ซึ่งไทยได้ให้คำมั่นในการที่จะขจัดความรุนแรงต่อสตรีในทุกรูปแบบและส่งเสริมสิทธิสตรีในทุกมิติ นั้น กสม. ขอให้รัฐบาลมุ่งมั่นดำเนินการในการยุติความรุนแรงต่อสตรีในทุกรูปแบบอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สอดคล้องตามอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (Convention on Elimination of All Forms of Discrimination against Women – CEDAW) โดยขับเคลื่อนให้การยุติความรุนแรงต่อสตรี โดยเฉพาะความรุนแรงในครอบครัวเป็นวาระแห่งชาติ ร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ ในการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเพื่อคุ้มครอง ผู้ที่ถูกกระทำความรุนแรง และความรุนแรงในครอบครัวอย่างมีประสิทธิภาพ เสริมศักยภาพและพัฒนากลไกการทำงานของบุคลากรที่ทำหน้าที่ให้การคุ้มครอง/ช่วยเหลือเยียวยาผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในทุกระดับ เสริมสร้างความตระหนักรู้และปรับเปลี่ยนทัศนคติของผู้คนในสังคม รวมถึงพัฒนาระบบฐานข้อมูลกลางในการจัดเก็บข้อมูลปัญหาความรุนแรงต่อสตรีเพื่อนำไปสู่การกำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ ต้องตระหนักถึงประเด็นความทับซ้อนทางอัตลักษณ์ของบุคคล เช่น ผู้หญิงพิการ ผู้หญิงกลุ่มชาติพันธุ์ ผู้หญิงแรงงานข้ามชาติ ซึ่งเป็นผู้ที่ตกอยู่ในสถานะเสี่ยงต่อการถูกกระทำความรุนแรง และประสบปัญหาในการเข้าถึงบริการและความช่วยเหลือต่างๆ จากรัฐ เร่งออกกฎหมายคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และพัฒนาระบบบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยให้สามารถเข้าถึงได้อย่างทั่วถึงเท่าเทียม

สุดท้ายนี้ กสม. ขอเน้นย้ำว่าปัญหาความรุนแรงต่อสตรีไม่ใช่เรื่องส่วนตัวแต่เป็นปัญหาสาธารณะ ที่ทุกคนมีส่วนสำคัญในการป้องกันแก้ไข เพื่อร่วมสร้างให้สังคมไทยเป็นสังคมที่ไม่ยอมรับและไม่นิ่งเฉยต่อการกระทำความรุนแรงต่อสตรีในทุกรูปแบบ