ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลโพธาราม จ.ราชบุรี เผย มีการพัฒนาการบริการตามแนวทาง SAP ยกระดับเป็น A+ ให้บริการหลากหลายสาขา ดูแลผู้ป่วยโรคไตอย่างครบวงจร ทั้งก่อนและหลังบำบัดทดแทนไต พร้อมเตรียมสร้างศูนย์ธรรมชาติบำบัด ส่งเสริมประชาชนดูแลสุขภาพตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง
วันที่ 24 พฤศจิกายน 2567 ที่ โรงพยาบาลโพธาราม จ.ราชบุรี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย ภญ.สุภัทรา บุญเสริม ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 5 ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของโรงพยาบาลโพธาราม จ.ราชบุรี โดยมี พญ.ปาจรีย์ อารีย์รบ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดราชบุรี นพ.สิริ สิริจงวัฒนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลโพธาราม คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ ให้การต้อนรับ
นพ.โอภาส กล่าวว่า โรงพยาบาลโพธาราม ซึ่งเป็นโรงพยาบาลทั่วไป ขนาด 340 เตียง ดูแลประชากรประมาณ 135,227 คน โรคที่พบมาก 3 อันดับแรก เป็นกลุ่มโรค NCDs ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน และโรคไตเรื้อรัง มีการพัฒนาศักยภาพตามแนวทาง SAP จากระดับ A เป็น A+ มีแพทย์สาขาหลักครบทุกสาขา และสาขารอง ได้แก่ หู คอ จมูก, จักษุ, หัวใจ, ไต, อายุรกรรมประสาท, อายุรกรรมทางเดินอาหาร และเวชศาสตร์ฟื้นฟู สามารถให้บริการเฉพาะด้านที่หลากหลาย อาทิ ศูนย์ส่องกล้อง ศูนย์นิทรา ศูนย์ผ่าตัดวันเดียวกลับและผ่าตัดแผลเล็ก เป็นต้น ในส่วนของผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังได้จัดระบบบริการครบวงจรด้วยทีมสหสาขาวิชาชีพ ทั้งก่อนและหลังบำบัดทดแทนไต โดยหน่วยไตเทียม 1 ซึ่งดำเนินการโดยโรงพยาบาล ให้บริการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมกรณีวิกฤติฉุกเฉินและฟอกเลือดเรื้อรัง จำนวน 18 เตียง สามารถทำหัตถการใส่สายสวนหลอดเลือดดำชนิดสองท่อเพื่อฟอกเลือด การกรองพลาสมา (Plasmapheresis) และการฟอกเลือดแบบต่อเนื่อง (Continuous Renal Replacement : CRRT) และหน่วยไตเทียม 2 ดำเนินการโดยบริษัทเอกชน ให้บริการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมเฉพาะผู้ป่วยฟอกเลือดเรื้อรัง จำนวน 12 เตียง นอกจากนี้ ยังพัฒนาการผ่าตัดเชื่อมต่อหลอดเลือดแดงและดำแบบวันเดียวกลับ ช่วยลดการเลื่อนนัดผ่าตัดเนื่องจากความไม่พร้อมของผู้ป่วย
ด้าน นพ.สิริ กล่าวว่า โรงพยาบาลยังมีแผนจัดตั้งศูนย์ธรรมชาติบำบัด บนพื้นที่ 38 ไร่ ซึ่งได้รับพระราชทานจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อใช้เป็นสถานที่ฝึกอบรมให้ความรู้แก่ประชาชน โรงเรียนและชุมชน ในการดูแลสุขภาพแบบพึ่งพาตนเอง ประหยัด ปลอดภัย เรียบง่าย ได้ผลเร็ว ตามแนวทาง “การแพทย์พอเพียง” ซึ่งจะช่วยลดปัญหาด้านสุขภาพ ลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนและภาครัฐ ตลอดจนจะช่วยลดความแออัดของผู้ป่วยในโรงพยาบาลได้ นอกจากนี้ ยังเป็นสถานที่ทำการเกษตรไร้สารพิษ ปลูกข้าว พืชผัก ผลไม้ ส่งให้กับโรงครัวของโรงพยาบาลประกอบอาหารผู้ป่วย และเป็นแหล่งผลิตแก๊สชีวภาพ โรงปุ๋ยชีวภาพ รวมทั้งผลิตวัสดุอุปกรณ์ เวชภัณฑ์ต่างๆ ที่ใช้ในการส่งเสริมสุขภาพ เพื่อการดูแลรักษาทางด้านการแพทย์พอเพียง ตลอดจนเป็นแหล่งเรียนรู้ในการดูแลสุขภาพพึ่งตน/เศรษฐกิจพึ่งตน ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงฯ อย่างครบวงจร ซึ่งขณะนี้กำลังก่อสร้างอาคารฟื้นฟูสภาพ (กายภาพบำบัดและแพทย์แผนไทย) และจะขยายอาคารตรวจรักษาและส่งเสริมสุขภาพ อาคารเอนกประสงค์และอาคารพักฟื้นผู้ป่วยระยะยาวเพิ่มเติมต่อไป