กรมวิทย์ฯ บริการ ร่วมประชุมเครือข่ายบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ ปี 2567 ย้ำความมุ่งมั่นขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการดูแลประชาชนอย่างยั่งยืน

จากนโยบายเชิงรุกของนางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ที่มุ่งยกระดับขีดความสามารถของบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศไทย เพื่อตอบสนองต่อความท้าทายแห่งอนาคตในการสร้างโอกาสใหม่ที่สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน โดยมุ่งเน้นการนำความรู้ของระบบ ววน. เชื่อมโยงการมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วน ส่งเสริมให้มีการ บูรณาการความร่วมมือระหว่างบุคลากร นักวิจัย และองค์กรต่างๆ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งและสนับสนุนทรัพยากรในระบบนิเวศวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้เกิดผลกระทบในวงกว้างเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืน

นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ กล่าวว่า กรมวิทย์ฯ บริการ ดำเนินการตามนโยบายดังกล่าวของท่านรัฐมนตรีศุภมาสฯ อย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อวันที่ 21-23 พฤศจิกายน 2567 ตนเองได้นำคณะผู้บริหารและนักวิจัยเข้าร่วมการประชุมเครือข่ายบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประจำปี 2567 ซึ่งจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สกสว.) ณ โรงแรม เดอะ รีเจ้นท์ ชะอำ บีช รีสอร์ท จังหวัดเพชรบุรี มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการทำงานร่วมกันระหว่างสถาบันการศึกษา ศูนย์วิจัย และหน่วยงานภาครัฐ มุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ การใช้ทรัพยากรร่วมกันเพื่อพัฒนางานวิจัยและกำลังคนทักษะสูงของประเทศ ตลอดจนสร้างความร่วมมือเพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันกับนานาประเทศ ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์บริการเน้นยุทธศาสตร์ในการให้ความสำคัญของการนำวิทยาศาสตร์เข้ามามีบทบาทในทุกขั้นตอนของห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เพื่อผลักดันการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ ผลิตภัณฑ์ และกระบวนการที่สามารถนำไปใช้จริงทั้งในระดับอุตสาหกรรมและระดับชุมชน ซึ่งในการประชุมดังกล่าว คณะผู้บริหารและนักวิจัยจากกรมวิทยาศาสตร์บริการได้ร่วมแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์และเชื่อมโยงเครือข่ายการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์กับพันธมิตรทั้งภาครัฐ มหาวิทยาลัย เอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อการบูรณาการผลงานวิจัยและนวัตกรรมสู่การพัฒนาชุมชนและสังคม โดยนักวิจัยจากกรมวิทย์ฯ บริการ นำเสนอผลงานทั้งในรูปแบบการบรรยาย (Oral Presentation) และโปสเตอร์ (Poster Presentation) รวมทั้งสิ้น 6 เรื่อง ครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ได้แก่
1. Development of a Complete Testing Laboratory for Building Materials Products in Compliance with National Mandatory Standards for Export and Import Enterprises โดย ดร. จรูญ จันทร์สมบูรณ์ นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการพิเศษ และ ดร.พิจิกา มูลอำคา นักวิทยาศาสตร์ปฏิบัติการ สถาบันห้องปฏิบัติการอ้างอิงแห่งชาติ
2. Tailoring Bioactive Glass for Advanced Bone Regeneration Applications โดย ดร.เอกรัฐ ชูวงศ์ นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการพิเศษ สถาบันห้องปฏิบัติการอ้างอิงแห่งชาติ
3. The Standard and Testing Laboratory Development for Authentication of Local Products and Raw Materials โดย ดร. สุทธิมา ศรีประเสริฐสุข นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการ สถาบันวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีชุมชน
4. Enhancing Consumer Confidence in the Quality of Online-Purchased Cleaning and Disinfection Products through Post-Market Surveillance and Chemical Testing Laboratories โดย ดร. อรพรรณ อภิรักษ์กานต์ นักวิทยาศาสตร์ปฏิบัติการ สถาบันห้องปฏิบัติการอ้างอิงแห่งชาติ
5. Sustainable wastewater management from coconut processing entrepreneurs : Case study Amphawa Samutsongkram (Amphawa model) โดย นายอมรพล ช่างสุพรรณ นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการพิเศษ สถาบันห้องปฏิบัติการอ้างอิงแห่งชาติ
6. Method development for mitragynine determination in kratom leaf for national standard reference method โดย นางสาวปัทมาพร จิตปรีดา นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการ สถาบันวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีชุมชน

นายแพทย์รุ่งเรืองฯ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมวิทย์ฯ บริการ มีความมุ่งมั่นในการนำวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมมาใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนและยกระดับความเป็นอยู่ของสังคมไทยในทุกมิติ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์นั้นไม่ได้หยุดเพียงแค่การพัฒนาผลิตภัณฑ์และกระบวนการเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงการวางรากฐานองค์ความรู้ การเสริมสร้างขีดความสามารถของบุคลากรในท้องถิ่น และการสร้างเครือข่ายความร่วมมือที่เข้มแข็งกับทุกภาคส่วน ตั้งแต่ชุมชนท้องถิ่นไปจนถึงระดับประเทศ ด้วยวิสัยทัศน์นี้ กรมวิทยาศาสตร์บริการจึงมุ่งที่จะเป็นองค์กรต้นแบบในการนำวิทยาศาสตร์ไปเชื่อมโยงกับการพัฒนาเชิงพื้นที่และการแก้ไขปัญหาที่ประชาชนเผชิญอยู่ สร้างผลลัพธ์ที่ยั่งยืนและตอบโจทย์ความต้องการที่แท้จริงของสังคม โดยมีเป้าหมายสูงสุดในการสร้างสังคมไทยที่เข้มแข็งและสามารถพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งเป็นการนำวิทยาศาสตร์มาใช้เพื่อการดูแลประชาชนอย่างแท้จริงและยั่งยืน