“สุดาวรรณ” ไฟเขียวหน่วยงานสังกัด วธ. เดินเครื่องขับเคลื่อนงานด้านวัฒนธรรม ปี 68 เตรียมศึกษาดัน “หมอลำ” ขึ้นทะเบียนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ต่อยูเนสโก 

นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า จากการประชุมหัวหน้าส่วนราชการและองค์การมหาชนในสังกัดกระทรวงวัฒนธรรม ครั้งที่ 4/2567 เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาแผนการดำเนินงานที่สำคัญเพื่อขับเคลื่อนงานด้านวัฒนธรรม ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ตามนโยบายกระทรวงวัฒนธรรม ได้แก่ 1.ส่งเสริม สร้างสรรค์ ผลักดันทุนทางวัฒนธรรมให้เป็นทุนทางเศรษฐกิจ 2.เสริมสร้างระบบนิเวศและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจวัฒนธรรม 3.เสริมพลังสร้างสรรค์ให้ “คน” เป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจวัฒนธรรมและสังคม และ 4. พัฒนาและผลักดันสินค้าและบริการทางวัฒนธรรมให้มีส่วนแบ่งเพิ่มขึ้นในตลาดโลก โดยแผนงานการดำเนินโครงการ กิจกรรมและภารกิจที่สำคัญที่แต่ละหน่วยงานได้นำเสนอมีการแบ่งกรอบระยะเวลาดำเนินการขับเคลื่อนงานวัฒนธรรมในห้วงระยะเวลา 3 เดือน 6 เดือน 9 เดือนและ 12 เดือน ซึ่งแต่ละแผนงานมีการกำหนดกลยุทธ์ กรอบระยเวลาการดำเนินการและเป้าหมายไว้การดำเนินการไว้ ซึ่งหลังจากนี้ในแต่ละหน่วยงานจะดำเนินการตามแผนงานและกิจกรรมสำคัญ เพื่อขับเคลื่อนงานด้านวัฒนธรรมให้บรรลุตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายตามนโยบายของ วธ. 4 นโยบาย ด้วย 3 แนวทางและ 2 รูปแบบ สู่ 1 เป้าหมายให้เกิดเป็นรูปธรรมและให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล

รมว.วธ. กล่าวว่า สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นำเสนอแผนงานที่จะผลักดันทุนทางวัฒนธรรมให้เป็นทุนทางเศรษฐกิจ โดยเน้นชูอัตลักษณ์วัฒนธรรมท้องถิ่น และการเร่งการขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศและระดับโลก อาทิ เทศกาลหนังเมืองแคน ครั้งที่ 8 “Kaen Film Festival” มหกรรมอัตลักษณวัฒนธรรมชายแดนใต้ รวมถึงการขับเคลื่อนหมอลำให้ขึ้นทะเบียนรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติขององค์การยูเนสโก การสนับสนุนการสร้างภาพยนตร์และวีดิทัศน์สอดแทรก Soft Power ไทย รวมทั้งโครงการส่งเสริมสนับสนุนการอนุรักษ์ฟื้นฟูขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น การยกระดับการจัดงานเทศกาลประเพณีไปสู่ระดับชาติและนานาชาติ เป็นต้น รวมถึงแผนงานการยกระดับการบริการแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรม อาทิ การเปิดหอศิลป์แห่งชาติเป็นพื้นที่บริการทางวัฒนธรรม การขับเคลื่อนพิพิธภัณฑ์เมืองนราธวาส และการขับเคลื่อนพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งธรณีพิบัติสึนามิ จังหวัดพังงา สู่การสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจชุมชน เป็นต้น รวมทั้งการพัฒนาพื้นที่ทางศิลปวัฒนธรรมและพื้นที่สร้างสรรค์ใหม่ ๆ อาทิ กิจกรรม 1 อําเภอ 1 ลานสร้างสรรค์ และการสนับสนุนเมืองที่มีศักยภาพด้านทุนทางวัฒนธรรมสู่เมืองสร้างสรรค์ เพื่อส่งเสริมศักยภาพของเมืองด้วยทุนทางวัฒนธรรม และเชื่อมโยงเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ยูเนสโกในประเทศไทย” เป็นต้น

นางสาวสุดาวรรณ กล่าวว่า ส่วนกรมการศาสนา (ศน.) เสนอแผนงานและกิจกรรมที่สำคัญในการผลักดันทุนทางวัฒนธรรมให้เป็นทุนทางเศรษฐกิจ อาทิ เทศกาลแห่ดาวคริสต์มาส เสน่ห์วันวาน เทศกาลงานวัด เป็นต้น รวมถึงแผนงานการพัฒนา “คน” ในมิติการบ่มเพาะคุณลักษณะความคิดสร้างสรรค์และเสริมสร้างต้นทุนชีวิตให้แก่เด็กและเยาวชน อาทิ กิจกรรมสวดมนต์ข้ามปี การฝึกสมาธิวิปัสสนา “ธรรมะ 3 ดี” (คิดดี พูดดี ทำดี) เป็นต้น ส่วนแผนงานการพัฒนาและผลักดันสินค้าและบริการทางวัฒนธรรมในมิติกรมการศาสนาด้วยการส่งเสริมความเข้มแข็งการท่องเที่ยวชุมชนเชิงวัฒนธรรมเพื่อนำซอฟต์พาวเวอร์ด้านศาสนามาต่อยอดสร้างรายได้ อาทิ เส้นทางสักการะพระบรพธาตุปีมะเส็ง เส้นทางสักการะพระธาตุประจำวันเกิด และเส้นทางสักการะพระบรมธาตุเจดีย์ เส้นทางตามรอยพญานาค และเปิดตัวเส้นทาง “มหัศจรรย์อาราม งดงามทั่วไทย” ตามรอยเส้นทางธรรมแห่งศรัทธา และตามรอยพระเถราจารย์ เป็นต้น

“สำหรับแผนงานและกิจกรรมสำคัญของกรมศิลปากรที่เน้นส่งเสริมสร้างสรรค์ผลักดันทุนทางวัฒนธรรมให้เป็นทุนทางเศรษฐกิจ อาทิ การเปิดตัวสินค้าที่ระลึก “ฝีมือสำนักช่างสิบหมู่” การเปิดให้บริการ “ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์” การเปิด “โรงละครแห่งชาติ” กรุงเทพมหานคร หลังการดำเนินการปรับปรับปรุงครั้งใหญ่แล้วเสร็จ การจัดแสดงนาฏศิลป์ชั้นสูงของชาติ รายการ “โขน 4 ทวีป” เพื่อเผยแพร่ศิลปะการแสดงของชาติสู่สากล การเฉลิมฉลองที่ “อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท รับประกาศมรดกโลกอย่างเป็นทางการ” จากองค์การเพื่อการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNESCO ณ อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท รวมถึงกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว การเฉลิมฉลอง “มรดกโลกบ้านเชียง” ประจำปี 2568 ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง รวมถึงกิจกรรมสัญจรเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว “เที่ยวท่องล่องคลองเก่า – ชื่นชมศิลป์ถิ่นธนบุรี” ณ โบราณสถานสำคัญเขตธนบุรี เป็นต้น” รมว.วธ. กล่าว

นางสาวสุดาวรรณ กล่าวอีกว่า สำหรับแผนงานและกิจกรรมสำคัญของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ในการขับเคลื่อนนโยบายของ วธ. ที่สำคัญๆ เช่น การส่งเสริมการดำเนินงานมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมเพื่อผลักดันทุนทางวัฒนธรรมให้เป็นทุนทางเศรษฐกิจ โดยการส่งเสริมต่อยอดและเฉลิมฉลองหลังจาก “ต้มยำกุ้งและเคบายา” ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติจากยูเนสโกช่วงเดือนธันวาคมนี้และได้นำเสนองานการพัฒนาพื้นที่เชื่อมโยงเพื่อการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมเชิงเศรษฐกิจสร้างสรรค์กลุ่มจังหวัดชายแดนภาคใต้ งานมหกรรมมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม “Event Content ICH 2024” ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนใต้ และการพัฒนาเมืองต้นแบบด้านศิลปวัฒนธรรม ได้แก่ กิจกรรมตามรอยประวัติศาสตร์ศิลป์สุวรรณภูมิสงขลาเมืองเก่าสู่การเป็นเมืองต้นแบบด้านศิลปวัฒนธรรม เทศกาลศิลปวัฒนธรรมนานาชาติ “เชื่อมโยงจากรุ่นสู่รุ่น New Gen Connected Art and Culture festival” และมหกรรมมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม เป็นต้น

“นอกจากนี้ ได้เสนอแผนงานส่งเสริมและพัฒนาอาหารถิ่นสู่มรดกทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ความเป็นไทย โดยจัดเทศกาลอาหารถิ่นหากินยาก “แซบ หรอย อร่อย ลำ” รวมถึงแผนงานการเสริมพลังสร้างสรรค์ให้ “คน” เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจวัฒนธรรมและสังคม อาทิ อบรมและพัฒนาศักยภาพผู้ผลิตและสร้างบุคลากรด้านภาพยนตร์ สารคดี ละคร ซีรส์ และแอนิเมชัน กิจกรรม OFOS สร้างบุคลากรหน้าใหม่เข้าสู่อุตสาหกรรม การส่งเสริมมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมสู่สากลโดยการประกวดออกแบบลายผ้าไทยสู่สากลเพื่อการต่อยอดและพัฒนา ส่วนพัฒนาและผลักดันสินค้าและบริการทางวัฒนธรรมให้มีส่วนแบ่งเพิ่มขึ้นในตลาดโลกที่จะดำเนินการ อาทิ เทศกาลงานศิลป์ของเล่นภูมิปัญญาไทยเพื่อคนรุ่นใหม่ การส่งเสริมอาหารพื้นถิ่นสู่อาหารโลก การสนับสนุนผู้ประกอบการและบุคลากร ด้านภาพยนตร์ ละคร ซีรส์ สารคดี แอนิเมชันไทยเข้าร่วมเทศกาลและงานประกาศรางวัลนานาชาติ กว่า 13 เทศกาล เป็นต้น อย่างไรก็ตาม มอบหมายให้ สวธ. เปิดพื้นที่ให้ศิลปินแห่งชาติถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์และเทคนิควิธีการต่าง ๆ เพื่อฝึกฝนพัฒนาทักษะทั้งด้านทัศนศิลป์ ด้านวรรณศิลป์ และด้านศิลปะการแสดงให้แก่เยาวชนรุ่นใหม่ ผู้ที่จะสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมของชาติและได้สัมผัสกับผลงานศิลปะอันทรงคุณค่า เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์และเกิดศิลปินรุ่นใหม่ ๆ ต่อไป” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าว