กสม. เผยผลการติดตามการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามข้อเสนอแนะของ กสม. ชุดที่ 3 ระบุหน่วยงานต่าง ๆ ให้ความร่วมมือแก้ไขปัญหาการละเมิดด้วยดี

นายภาณุวัฒน์ ทองสุข รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ชุดปัจจุบัน (ชุดที่ 4) ได้ติดตามการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามมาตรการหรือข้อเสนอแนะของ กสม. มาอย่างต่อเนื่อง โดย กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2567 ได้มีมติเห็นชอบให้ยุติการติดตามการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามมาตรการหรือข้อเสนอแนะของ กสม. ชุดที่ 3 จำนวน 12 เรื่อง เนื่องจากหน่วยงานได้ดำเนินการตามข้อเสนอแนะของ กสม. ทั้งหมดหรือบางส่วนอันเป็นสาระสำคัญแล้ว ซึ่งเป็นไปตามระเบียบ กสม. ว่าด้วยการติดตามผลการดำเนินการด้านสิทธิมนุษยชน พ.ศ. 2564 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

ตัวอย่างเรื่องที่ กสม. มีมติ ให้ยุติการติดตามการดำเนินงานของหน่วยงาน มีดังนี้

(1) รายงานตรวจสอบเรื่องสิทธิชุมชน เช่น กรณีร้องเรียนว่า การประกอบกิจการของโรงงานผลิตแผ่นไม้ในพื้นที่จังหวัดนนทบุรีส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่ปี 2559 ซึ่งกรมควบคุมมลพิษ กรมโรงงานอุตสาหกรรม และจังหวัดนนทบุรี ได้ติดตามการปรับปรุงโรงงานโดยพบว่าปัจจุบันระบบกำจัดฝุ่นละอองใช้งานได้ตามปกติ ไม่มีการระบายน้ำทิ้งออกนอกบริเวณโรงงาน และในรอบปีที่ผ่านมา ไม่มีข้อร้องเรียนเกี่ยวกับเรื่องมลพิษแต่อย่างใด หรือกรณีชาวบ้านในพื้นที่จังหวัดราชบุรี จังหวัดสมุทรสงคราม และจังหวัดเพชรบุรี ได้รับความเดือดร้อนจากน้ำเสียซึ่งปล่อยจากฟาร์มเลี้ยงสุกร เมื่อปี 2560 ปัจจุบันพบว่าทั้ง 3 จังหวัดได้แต่งตั้งคณะทำงานระดับพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำเสีย และกำหนดมาตรการให้ผู้ประกอบการคำนึงถึงความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ให้มีระบบบำบัดน้ำเสีย และปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดแล้ว ส่วนความเสียหายเดิมที่เกิดขึ้น ศาลมีคำพิพากษาให้บริษัทผู้ประกอบกิจการชดใช้ค่าเสียหายและฟื้นฟูแหล่งน้ำ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการบังคับคดี

(2) รายงานตรวจสอบเรื่องสิทธิเด็ก กรณีบุคลากรของโรงเรียนสารสาสน์วิเทศราชพฤกษ์กระทำความรุนแรงต่อเด็กนักเรียนปฐมวัย เมื่อปี 2563 พบว่า ปัจจุบัน โรงเรียนฯ ได้จัดให้มีตัวแทนผู้ปกครองเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการบริหารโรงเรียนและมีช่องทางเพื่อให้ผู้ปกครองแจ้งข้อกังวลหรือความต้องการต่าง ๆ รวมทั้งได้เพิ่มมาตรการคัดกรองบุคลากรเพื่อตรวจคุณสมบัติให้มีความเหมาะสม รวมทั้งจัดทำคู่มือสำหรับบุคลากรทางการศึกษาโดยร่วมกับกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และหน่วยงานทางวิชาการพัฒนาบุคลากรด้านความรู้ ทักษะ และทัศนคติ ในส่วนของหน่วยงานรัฐ คุรุสภาได้บัญญัติเกี่ยวกับหน้าที่ของครูในการคุ้มครองเด็กไว้ในข้อบังคับคุรุสภาว่าด้วยการพิจารณาการประพฤติผิดจรรยาบรรณของวิชาชีพ พ.ศ. 2553 และอยู่ระหว่างปรับปรุงร่างข้อบังคับคุรุสภาว่าด้วยมาตรฐานวิชาชีพครูปฐมวัยและครูการศึกษาพิเศษ ขณะที่ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้ผลักดันให้มหาวิทยาลัยจัดทำหลักสูตรสำหรับผู้ทำหน้าที่ผู้ช่วยครู หรือพี่เลี้ยง และสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยบรรจุหลักการตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กไว้ในหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับการผลิตบุคลากรทางการศึกษาทุกระดับ ด้วย

(3) ข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ได้แก่ ข้อเสนอแนะเมื่อปี 2563 กรณีผลกระทบด้านการจราจรของโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย–มีนบุรี จากความล่าช้าของการก่อสร้าง การรื้อย้ายสาธารณูปโภคและการส่งมอบพื้นที่ในบางจุด พบว่า การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในฐานะหน่วยงานเจ้าของโครงการ ได้ติดตามการทำงานของบริษัทผู้ได้รับสัมปทานและจัดทำแผนจัดการจราจรร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) และติดตามการปฏิบัติตามแผนงานกระทั่งโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการเต็มรูปแบบเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 ขณะที่กระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดนำปัญหาและข้อค้นพบจากการดำเนินโครงการฯ ไปเป็นข้อมูลประกอบการวางแผนหรือกำหนดมาตรการป้องกันและบรรเทาปัญหาให้แก่ประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากโครงการของรัฐในอนาคตด้วย

นอกจากนี้ กสม. ชุดที่ 3 ยังมีข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน หรือผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชน เมื่อปี 2564 จากกรณีปัญหาที่นักปกป้องสิทธิฯ ถูกคุกคามในลักษณะต่าง ๆ โดยมีเอกชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งถูกฟ้องร้องดำเนินคดีโดยมีเจตนากลั่นแกล้งหรือระงับไม่ให้เข้าไปมีส่วนร่วมในกิจการหรือโครงการต่าง ๆ ของรัฐ โดยปัจจุบันทราบว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มอบหมายให้หน่วยงานของรัฐและรัฐวิสาหกิจทุกแห่ง ใช้วิธีการชี้แจงข้อเท็จจริงในประเด็นที่ถูกวิจารณ์หรือกล่าวหาเป็นวิธีการแรก และให้สิทธิแก่ผู้ถูกกล่าวหาที่จะได้รับการปล่อยชั่วคราว ส่วนกระทรวงยุติธรรม โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพได้เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับบทบาทของนักปกป้องสิทธิฯ และร่วมกับโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติศึกษาแนวทางการจัดทำมาตรฐานคุ้มครองนักปกป้องสิทธิฯ ตลอดจนการเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมของสาธารณะ (SLAAP) โดยมีการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. คุ้มครองพยานในคดีอาญา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2565 ให้ขยายความคุ้มครองครอบคลุมถึงผู้แจ้งเบาะแสหรือผู้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำความผิดอาญา และอยู่ระหว่างแก้ไขระเบียบคณะกรรมการกองทุนยุติธรรมว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลย พ.ศ. 2559 เพื่อให้ความคุ้มครองนักปกป้องสิทธิฯ หรือบุคคลที่น่าเชื่อว่ามิได้กระทำความผิดตามข้อกล่าวหาได้มากขึ้น ขณะที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) และกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้มีคำสั่งและจัดตั้งหน่วยงานภายในเพื่อเร่งรัดการสืบสวนหรือดำเนินมาตรการอื่นใดที่จำเป็นตามหน้าที่ เพื่อทำให้คดีที่เกี่ยวข้องกับการบังคับให้สูญหายซึ่งยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จได้รับการสะสาง