ศธ. ห่วงสุขภาพจิตผู้เรียน เสริมกำแพงพักใจ “Wall of Sharing” จัดระบบนิเวศความสุขในสถานศึกษา ตอบโจทย์นโยบาย “เรียนดี มีความสุข”

22 พฤศจิกายน 2567 – นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยถึงความห่วงใย ของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ต่อปัญหาสุขภาวะทางจิตของผู้เรียนจากปัญหาความเครียดและภาวะซึมเศร้าในกลุ่มเด็กและเยาวชนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เล็งโครงการ”กำแพงพักใจ ที่พักใจให้เยาวชน” ในสถานศึกษาสอดรับนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” มุ่งหวังให้ผู้เรียนถูกโอบกอดด้วยสภาพแวดล้อมที่มีความสุขทั้งด้านการเรียนและสุขภาพใจ

โฆษก ศธ. เปิดเผยว่า จากสถานการณ์สุขภาพจิตของผู้เรียนในปัจจุบัน พบว่าปัญหาสุขภาวะทางจิตไม่เพียงแต่เกิดจากสภาพแวดล้อมในบ้านหรือสังคม แต่ยังเกี่ยวข้องกับความเครียดจากการเรียน การแข่งขันในระบบการศึกษา และความคาดหวังจากครอบครัวและคนรอบข้าง ส่งผลให้เด็กและเยาวชนหลายคนไม่สามารถจัดการกับอารมณ์และความเครียดได้ ซึ่งปัญหานี้ต้องได้รับการดูแลและแก้ไขอย่างจริงจัง โดยการสร้างระบบการสนับสนุนด้านสุขภาพจิตในสถานศึกษา เพื่อให้ผู้เรียนเข้าถึงการช่วยเหลือได้อย่างง่ายและรวดเร็วโดยไม่ต้องรอถึงขั้นวิกฤต

ที่ผ่านมา ศธ.ได้ร่วมมือกับกรมสุขภาพจิต สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 13 และแอปพลิเคชัน ooca จัดทำโครงการ “ที่พักใจให้เยาวชน Wall of Sharing”นำร่องในพื้นที่เขตกรุงเทพมหานคร เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยพร้อมดูแลสุขภาพจิตให้กับนักเรียน ส่งเสริมความรู้แบบมีส่วนร่วมในการการรับมือกับปัญหาสุขภาพจิตในสถานศึกษา และยังมีการจัดตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาด้านจิตวิทยาในโรงเรียน ฝึกอบรมครูและบุคลากรในสถานศึกษาให้สามารถสังเกตและดูแลนักเรียนที่อาจจะมีปัญหาสุขภาวะทางจิต รวมถึงพัฒนาระบบเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพใช้เป็นเครื่องมือนวัตกรรมสุขภาพจิต นอกจากนี้ยังมีแผนการดำเนินงานที่เน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านร่างกายและจิตใจของนักเรียนผ่านกิจกรรมเรียนรู้ที่ช่วยลดความเครียดและเสริมสร้างสุขภาวะทางจิต

สำหรับแนวทางในอนาคตที่วางไว้จะมีการส่งเสริมให้ทุกโรงเรียนในประเทศไทยจัดตั้งกลุ่มสนับสนุนสุขภาวะทางจิตและจิตวิทยา ซึ่งจะช่วยให้เด็กและเยาวชนมีพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นและปรึกษาปัญหาได้อย่างเปิดเผย โดยสร้างระบบที่สามารถช่วยเหลือนักเรียนได้ตั้งแต่แรกเริ่ม เพื่อลดปัญหาความเครียดในทุกระดับการศึกษาของประเทศไทย ดูแลสุขภาวะทางจิตภาพรวมของผู้เรียนเพื่อจัดการกับปัญหานี้ได้อย่างยั่งยืน

อยากเน้นย้ำไปถึงครูและเพื่อนสนิทที่ใกล้ชิดให้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าว่าไม่ใช่เรื่องที่คิดไปเองแต่เป็นเรื่องที่เซนซิทีฟ พยายามอย่าตีตัวออกห่างเพียงเพราะกลัวว่าบางคำพูดหรือการกระทำจะไปทำร้ายความรู้สึกเพื่อนแบบไม่ได้ตั้งใจแล้วทำให้รู้สึกไม่ดี แต่ให้คอยสังเกตถามไถ่ด้วยความรู้สึกเห็นอกเห็นใจเพื่อลดกำแพงความกังวล หากครูพบเด็กที่น่าเป็นห่วงจริง ๆ ควรส่งต่อให้นักจิตวิทยาเด็กเข้ามาพูดคุยดูแลผู้เรียนให้ใกล้ชิดมากขึ้น

“กระทรวงศึกษาธิการไม่เพียงแต่ให้ความสำคัญกับด้านการเรียนเท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญกับสุขภาวะทางจิตที่ดีของผู้เรียน ซึ่งโครงการ “Wall of Sharing” จะช่วยเสริมสร้างระบบนิเวศความสุขในสถานศึกษา รวมถึงความมั่นคงในชีวิตของเด็กและเยาวชนผ่านการบูรณาการตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ที่มุ่งหวังให้การศึกษาไทยเกิดความสมดุลทั้งในด้านวิชาการและการดูแลสุขภาพจิตควบคู่กัน” โฆษก ศธ. กล่าว