1.สภาพอากาศวันนี้ : บริเวณความกดอากาศสูง หรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ทำให้บริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอากาศเย็นและมีลมแรง ในขณะที่มีลมตะวันออกพัดปกคลุมบริเวณภาคตะวันออกและภาคกลางตอนล่าง ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทย และภาคใต้มีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันจะมีกำลังแรงขึ้น
2. สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม : ปริมาณน้ำรวม 82% ของความจุเก็บกัก (66,045 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 72% (41,843 ล้าน ลบ.ม.) เฝ้าระวังแหล่งน้ำขนาดใหญ่ระดับน้ำต่ำกว่าระดับควบคุมต่ำสุดหรือมีน้ำใช้การน้อยกว่า 30% 1 แห่ง ดังนี้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จุฬาภรณ์
3. คุณภาพน้ำ : แม่น้ำสายหลัก 4 สาย (เจ้าพระยา ท่าจีน แม่กลอง และบางปะกง) อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
4. ประกาศ : สทนช. ประกาศเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในพื้นที่ภาคใต้ ในช่วงวันที่ 20 – 26 พ.ย. 67 ดังนี้
1.พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม น้ำท่วมขังในเขตชุมชนเมืองที่เกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำเนื่องจากระบายไม่ทัน บริเวณ จ.สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส
2.เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและเล็กที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 บริเวณ จ.สุราษฎร์ธานี สำหรับอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ โดยเฉพาะเขื่อนบางลาง จ.ยะลา ให้พิจารณาบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม
3.เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่งและท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของ แม่น้ำตาปี แม่น้ำตรัง คลองชะอวด คลองลำ คลองท่าแนะ แม่น้ำสายบุรี แม่น้ำปัตตานี แม่น้ำบางนรา แม่น้ำโก-ลก และคลองตันหยงมัส
5. แนวทางการบริหารจัดการน้ำ วานนี้ (20 พ.ย. 67) ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานการประชุมติดตามการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่คุ้งบางกะเจ้า ณ ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลบางกะเจ้า อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ โดยลงพื้นที่ในครั้งนี้สืบเนื่องจากการประชุมถอดบทเรียนการติดตามประเมินผลการบริหารจัดการน้ำและมาตรการรองรับในช่วงฤดูแล้งปีที่ผ่านมา และเป็นการติดตาม 8 มาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2567/68 โดย “พื้นที่คุ้งบางกะเจ้า”ที่ได้ชื่อว่าเป็นปอดของคนกรุงเทพฯ จึงมีความสำคัญในการรักษาระบบนิเวศและการทำเกษตรกรรม แต่พื้นที่ตั้งอยู่บริเวณปากอ่าวใกล้ทะเลด้วยอิทธิพลของน้ำขึ้นน้ำลงทำให้มักประสบปัญหาน้ำเค็มรุกโดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง ขณะเดียวกันในช่วงฤดูฝนมักประสบปัญหาน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน กระทบต่อพื้นที่การเกษตร พืชผลบางชนิดได้รับความเสียหาย นอกจากนี้ ในพื้นที่มีการพัฒนาระบบการบริหารจัดการน้ำ โดยประตูระบายน้ำ จำนวน 34 แห่ง ที่อยู่ในความรับผิดชอบขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการแต่มีประตูระบายน้ำบางแห่งเกิดการชำรุด โดยได้กำชับให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการเร่งดำเนินการซ่อมแซมให้แล้วเสร็จ และเตรียมการถ่ายโอนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ดูแลและรับผิดชอบต่อไป