สทนช. จับมือหน่วยงานลงพื้นที่ติดตามการบริหารจัดการน้ำคุ้งบางกะเจ้า เร่งฟื้นฟูปอดของคนกรุงเทพฯ แก้ไขปัญหาน้ำเค็มรุก ช่วยพื้นที่การเกษตร

สทนช. บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ติดตามการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่คุ้งบางกะเจ้า จ.สมุทรปราการ เร่งฟื้นฟูปอดของคนกรุงเทพฯ พร้อมหารือแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำเค็มรุก ช่วยพื้นที่การเกษตร เตรียมส่งมอบประตูระบายน้ำที่ซ่อมแซมแล้วเสร็จให้ อปท. ดูแล

วันที่ 20 พฤศจิกายน 2567 ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานการประชุมติดตามการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่คุ้งบางกะเจ้า ณ ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลบางกะเจ้า อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ โดยมี นายอานนท์ บูรณะภักดี นายอำเภอพระประแดง พร้อมด้วย ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมชลประทาน กรมเจ้าท่า การประปานครหลวง กรมโยธาธิการและผังเมือง สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสมุทรปราการ สำนักงานเกษตรจังหวัดสมุทรปราการ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ องค์การบริหารส่วนตำบลบางกะเจ้า องค์การบริหารส่วนตำบลบางกอบัว องค์การบริหารส่วนตำบลบางน้ำผึ้ง องค์การบริหารส่วนตำบลบางยอ องค์การบริหารส่วนตำบลบางกระสอบ องค์การบริหารส่วนตำบลทรงคนอง และองค์กรผู้ใช้น้ำเพื่อการเกษตรและสิ่งแวดล้อมพื้นที่สีเขียวคุ้งบางกะเจ้า เข้าร่วม จากนั้นช่วงบ่าย ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ประตูระบายน้ำคลองบางกะเจ้า ต.บางกะเจ้า อ.พระประแดง, ประตูระบายน้ำคลองลัดบางยอ ต.บางยอ อ.พระประแดง และประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ อ.พระประแดง

ลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า การลงพื้นที่ในครั้งนี้สืบเนื่องจากการประชุมถอดบทเรียนการติดตามประเมินผลการบริหารจัดการน้ำและมาตรการรองรับในช่วงฤดูแล้งปีที่ผ่านมา และเป็นการติดตาม 8 มาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2567/68 ด้วย โดย “พื้นที่คุ้งบางกะเจ้า” ที่ได้ชื่อว่าเป็นปอดของคนกรุงเทพฯ จึงมีความสำคัญในการรักษาระบบนิเวศและการทำเกษตรกรรม แต่พื้นที่ตั้งอยู่บริเวณปากอ่าวใกล้ทะเล ด้วยอิทธิพลของน้ำขึ้นน้ำลง ทำให้มักประสบปัญหาน้ำเค็มรุกโดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง ขณะเดียวกันฤดูฝนมักประสบปัญหาน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน กระทบต่อพื้นที่การเกษตร พืชผลบางชนิดได้รับความเสียหาย นอกจากนี้ ในพื้นที่มีการพัฒนาระบบการบริหารจัดการน้ำ โดยประตูระบายน้ำ 34 แห่ง ที่อยู่ในความรับผิดชอบขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ แต่มีประตูระบายน้ำบางแห่งเกิดการชำรุด โดยได้กำชับให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการเร่งดำเนินการซ่อมแซมให้แล้วเสร็จ และเตรียมการถ่ายโอนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือองค์การบริหารส่วนตำบลในพื้นที่เป็นผู้ดูแลต่อ ทั้งนี้ สทนช. จะเข้ามาเป็นพี่เลี้ยงช่วยดูแลการบริหารจัดการน้ำให้เกิดความยั่งยืนต่อไป

“ในส่วนของคูคลองที่มีความเชื่อมต่อกัน ปัจจุบันคูคลองเหล่านั้นมีสภาพตื้นเขิน การลงพื้นที่สำรวจในวันนี้ สทนช.ได้แนะนำให้ท้องถิ่นดำเนินการขุดลอกคูคลองบางส่วนให้มีความลึกที่เหมาะสมให้สามารถเชื่อมต่อกันได้เป็นอย่างดีเพื่อช่วยในการไหลของน้ำ สำหรับในช่วงที่ปริมาณน้ำในพื้นที่มีไม่เพียงพอ สทนช.จะประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันแก้ไขปัญหาโดยการติดตั้งสถานีสูบน้ำชั่วคราวเพื่อทำการสูบน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาในช่วงเวลาที่ค่าความเค็มไม่เกินมาตรฐาน หรือไม่เกิน 4 มิลลิกรัมต่อลิตร เพื่อนำมาเติมให้กับแหล่งน้ำสาธารณะในพื้นที่ ซึ่งสามารถนำไปใช้ทำการเกษตรได้ ส่วนการแก้ไขปัญหาระยะยาว จะมีการศึกษาแนวทางการติดตั้งสถานีสูบน้ำถาวร โดย สทนช. เตรียมประสานกรมทรัพยากรน้ำ ให้ดำเนินการสำรวจออกแบบและสร้างสถานีสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อสูบน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาลงสู่คุ้งบางกะเจ้า ซึ่งจะช่วยเจือจางน้ำเค็มและบรรเทาผลกระทบ นอกจากนี้ ยังได้หารือในการจัดทำรูปแบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำประตูระบายน้ำทั้ง 34 แห่ง โดยคณะกรรมการชุดหนึ่งที่ประกอบด้วยคนในพื้นที่คุ้งบางกะเจ้า ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการบริหารจัดการน้ำร่วมกัน เพื่อร่วมกันควบคุมกำหนดเวลาการเปิดปิดประตูระบายน้ำ ทั้งนี้ พื้นที่คุ้งบางกะเจ้าจะต้องรักษาสภาพแวดล้อมไว้ให้เป็นพื้นที่การเกษตรและฟื้นฟูระบบนิเวศป่าชายเลนให้มีความสมบูรณ์ เพื่อเป็นปอดของคนกรุงเทพฯ ได้อย่างแท้จริง”