ตามที่มีข่าว สารเคมีจากโรงงานของบริษัท นิรันดร์ (ประเทศไทย) จำกัด ในจังหวัดระยอง ไหลลงแหล่งน้ำทั้งที่โรงงานปิดกิจการไปแล้ว อ้างเกิดจากกรมบังคับคดีห้ามนำเศษซากปนเปื้อนสารเคมีออกไปกำจัด ทั้งที่อุตสาหกรรมมีคำสั่งให้เร่งนำออกไปกำจัดโดยเร็ว เพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่นายทุน นั้น
นางเพ็ญรวี มาแสง โฆษกกรมบังคับคดี เปิดเผยว่า บริษัท นิรันดร์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดตั้งแต่วันที่ 26 ตุลาคม 2565 ทำให้อำนาจในการจัดกิจการและทรัพย์สินตกอยู่แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ จากการสอบสวนกิจการและทรัพย์สินพบว่า บริษัท นิรันดร์ (ประเทศไทย) จำกัด เคยประกอบกิจการผลิตกรดมะนาว ทรัพย์สินของบริษัทจึงมีทั้งส่วนที่เป็นที่ดิน อาคารโรงงาน และเครื่องจักรจำนวนมาก ซึ่งทรัพย์สินทั้งหมดติดจำนองบริษัทต่างประเทศ เนื่องจากบริษัทฯ ประกอบกิจการขาดทุนมาตั้งแต่ปี 2552 และได้ปิดกิจการมากว่า 10 ปีแล้ว เป็นเหตุให้บริษัทถูกเจ้าหนี้หลายรายฟ้องเป็นคดีแพ่ง จนกระทั่งมาถูกฟ้องคดีล้มละลายเป็นคดีนี้ ภายหลังจากที่บริษัทเข้าสู่กระบวนการล้มละลาย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้เร่งรัดในการขายทอดตลาดทรัพย์สินมาโดยตลอด ทรัพย์สินที่ยึดไว้ในคดีแพ่งก็ได้มีดำเนินการประกาศขายทอดตลาดทรัพย์แล้ว แต่เจ้าหนี้ผู้รับจำนองได้ยื่นคำร้องต่อศาลแรงงานภาค 2 (สาขาระยอง) ให้เพิกถอนประกาศขายทอดตลาด และศาลได้มีคำสั่งแจ้งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีงดการขายทอดตลาดไว้จนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นประการอื่น โดยศาลนัดไต่สวน คำร้องในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2567 นี้
ในประเด็นในเรื่องของสารเคมีที่ตกค้างในพื้นที่นั้น เนื่องจากได้เคยมีการร้องเรียนจากชาวบ้านเกี่ยวกับสารเคมีที่ตกค้างอยู่ภายในโรงงานมาก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งกรมบังคับคดีได้บูรณาการร่วมกับปลัดอำเภอบ้านค่าย เจ้าหน้าที่จากสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดระยอง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 2 ตำบลหนองบัว องค์การบริหารส่วนตำบลหนองบัว ลงพื้นที่ตรวจสอบและพบสารเคมีที่บรรจุอยู่ในถุงพลาสติก อยู่ในอาคารที่หลังคาบางส่วนชำรุดทำให้สารเคมีดังกล่าวถูกแดดและฝนซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตราย ซึ่งกรมบังคับคดีได้ดำเนินการแก้ไขตามคำแนะนำของสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดระยอง และองค์การบริหารส่วนตำบลหนองบัว โดยการขนย้ายไปเก็บไว้ในที่มิดชิดไม่ถูกแดดและฝนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นำเสนอที่ประชุมเจ้าหนี้ในคดีล้มละลาย เพื่อพิจารณาดำเนินการเกี่ยวกับสารเคมีดังกล่าวต่อไป
ในส่วนประเด็นในเรื่องของสารเคมีรั่วไหลตามที่เป็นข่าวนั้น เป็นประเด็นที่เพิ่งเกิดขึ้น อันสืบเนื่องมาจากมีบุคคลเข้าไปลักทรัพย์ภายในพื้นที่โรงงานโดยการทำลายตัดชิ้นส่วนต่าง ๆ ของเครื่องจักร ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่เครื่องจักร รวมถึงอาคารโรงงานที่ถูกรื้อทำลายด้วย กรมบังคับคดีได้ลงพื้นที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่จากสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดระยอง พนักงานองค์การบริหารส่วนตำบลหนองบัว เจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขระยอง และพนักงานบริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) สาขาระยอง จึงได้พบการรั่วไหลอันเกิดจากเครื่องจักรและโรงงานถูกทำลาย และรื้อถอนดังกล่าว เป็นเหตุทำให้สารเคมีเกิดการรั่วไหลในบริเวณโรงงานและทำให้เกิดการชะล้างของสารยิปซัมจนเป็นตะกอนสารเคมีอุดตัน ซึ่งในเรื่องดังกล่าวกรมบังคับคดีได้ดำเนินการแก้ไขโดยการนำกระสอบทรายอุดบริเวณที่มีน้ำรั่วไหลแล้ว และบริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) สาขาระยอง ได้นำรถมาฉีดน้ำเพื่อเป็นการเจือจางสารปนเปื้อนอันเป็นการแก้ไขปัญหาในเบื้องต้นแล้ว จากนั้น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้กำหนดนัดประชุมเจ้าหนี้ครั้งอื่น เพื่อปรึกษาเกี่ยวกับการดำเนินการแก้ไขปัญหาในเรื่องดังกล่าว ซึ่งที่ประชุมมีมติให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เร่งรัดในการขายทอดตลาดทรัพย์สินทั้งหมดโดยเร็ว และในขณะที่รอการขายทอดตลาดทรัพย์นั้น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงได้มีหนังสือถึงสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดระยอง ขอคำแนะนำวิธีจัดการแก้ไขหรือรับมือป้องกันปัญหาน้ำเสียไม่ให้ไหลออกสู่ภายนอกโรงงาน ซึ่งสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดระยองเสนอคำแนะนำในการดำเนินการแก้ไขหรือรับมือป้องกันไม่ให้น้ำเสียไหลออกภายนอกโรงงาน โดยเห็นควรให้ดำเนินการสำรวจจุดกักเก็บ ชนิดและปริมาณสารเคมีที่คงค้างภายในโรงงานเพื่อทำการวิเคราะห์และหาแนวทางการจัดการสารเคมี และให้ทำการดูดซับสารเคมีที่มีการรั่วซึมภายในโรงงานพร้อมส่งไปกำจัดให้ถูกต้องและรีบดำเนินการนำเครื่องจักรพร้อมอุปกรณ์ที่ชำรุดและปนเปื้อนสารเคมีออกไปบำบัด/กำจัดต่อไป
แต่เนื่องจากในห้วงเวลาที่ผ่านมายังมีการเข้าไปลักทรัพย์ต่าง ๆ ภายในโรงงานซึ่งรวมถึงการตัดชิ้นส่วนของเครื่องจักรเพื่อนำไปขายอยู่ จึงเป็นเหตุให้สารเคมีที่ค้างอยู่ภายในเครื่องจักรรั่วไหลออกมา ประกอบกับช่วงเวลาที่ผ่านมาเป็นฤดูฝนจึงทำให้สารเคมีมีการรั่วไหลและกระจายมากขึ้นภายในโรงงาน กรมบังคับคดีจึงได้ลงพื้นที่อีกครั้งเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2567 โดยสำรวจรางน้ำหน้าโรงงานแล้วไม่ปรากฏว่ามีน้ำเสียหรือปนเปื้อนสารเคมีไหลอออกมาตามท่อ ในส่วนของน้ำในรางน้ำหน้าโรงงานมีน้ำสีใสปกติไม่มีกลิ่นเหม็นที่ไหลลงสู่คลองสาธารณประโยชน์ตามปกติ จากนั้น กรมบังคับคดียังได้มีหนังสือถึงอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ขอความอนุเคราะห์ให้จัดส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสารเคมีตกค้างบริเวณพื้นที่โดยรอบโรงงานบริษัท นิรันดร์ (ประเทศไทย) จำกัด ว่าเป็นสารเคมีชนิดใด และเป็นอันตรายหรือไม่เพียงใด สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติหรือไม่ รวมถึงตรวจสอบบริเวณรางน้ำหน้าโรงงาน และบริเวณคลองน้ำสาธารณประโยชน์(คลองปลากั้ง)ว่ามีสารเคมีตกค้างหรือปนเปื้อนสารเคมีหรือไม่อย่างไร รวมถึงวิธีจัดการแก้ไขด้วย และเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา กรมบังคับคดีได้ร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ ลงพื้นที่ตรวจสอบแล้ว ซึ่งเจ้าหน้าที่กรมควบคุมมลพิษได้เก็บตัวอย่างน้ำและโลหะหนัก จำนวน 6 จุด เพื่อนำไปตรวจสอบผลในห้องปฏิบัติการ โดยผลตรวจวิเคราะห์น้ำบริเวณโรงงานเบื้องต้นผลจะทราบประมาณ 1 สัปดาห์ และในส่วนผลตรวจโลหะหนักนั้นผลจะทราบประมาณ 2 ถึง 3 สัปดาห์
ในส่วนของการนำซากเครื่องจักร เศษท่อ และ วัสดุภายในอาคาร ที่ปนเปื้อนสารเคมีออกไปกำจัดอย่างถูกวิธีโดยเร็ว นั้น กรมบังคับคดีได้มีคำสั่งการให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เร่งดำเนินการตามหนังสือของสำนักงานอุตสาหกรรมที่แนะนำแนวทางแก้ไขในเรื่องดังกล่าวแล้ว โดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้แจ้งให้เจ้าหนี้ในคดีล้มละลายจัดหาบริษัทที่ขึ้นทะเบียนกับกรมโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับใบอนุญาตในการกำจัด บำบัดสารเคมีตกค้างและของเสียภายในโรงงาน เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมเจ้าหนี้คัดเลือกบริษัทเพื่อดำเนินการในการแก้ไขปัญหาสารเคมีดังกล่าวต่อไป ซึ่งมีกำหนดประชุมเจ้าหนี้ครั้งอื่นในวันที่ 25 ธันวาคม 2567 นี้
นอกจากนี้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยังได้มีหนังสือถึงกรรมการผู้จัดการบริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) ในฐานะเจ้าหนี้ในคดีล้มละลายและในฐานะเจ้าของโครงการเขตประกอบการสวนอุตสาหกรรมโรจนะระยอง ขอหารือวิธีการร่วมกันในการแก้ไขปัญหาและคำแนะนำวิธีจัดการป้องกันไม่ให้น้ำเสียภายในโรงงานของลูกหนี้ซึ่งอาจไหลออกภายนอกอันเป็นการกระทบต่อสิ่งแวดล้อมรอบโรงงาน รวมถึงขอความอนุเคราะห์ในการประมาณการค่าใช้จ่ายที่จะใช้ดำเนินการแล้ว เพื่อจะได้ดำเนินการลงพื้นที่ในแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่องต่อไป
กรมบังคับคดี มิได้นิ่งนอนใจในปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าว แม้การดำเนินคดีทางกฎหมายในเรื่องนี้จะมีข้อโต้แย้งและอาจใช้เวลาในการดำเนินคดีก็ตาม แต่กรมบังคับคดีก็จะดำเนินการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่องต่อไปในการแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้น เพื่อลดความเดือดร้อนของประชาชนต่อไป