กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) เดินหน้าสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายภาคประชาชนในการป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs จัดกิจกรรม “อสม. ชวนนับคาร์บ” หนุน อสม.ลงเคาะประตูบ้านให้ความรู้ชาวชุมชนในการรับประทานอาหารอย่างเหมาะสม สร้างพฤติกรรมสุขภาพดี ประชาชนทั่วไทยห่างไกลโรค NCDs
ดร.นายแพทย์ภานุวัฒน์ ปานเกตุ อธิบดีกรม สบส. เผยว่า ตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2568 “ยกระดับการสาธารณสุขไทย สุขภาพแข็งแรงทุกวัย เศรษฐกิจสุขภาพไทยมั่นคง” ซึ่งมุ่งส่งเสริมให้คนไทยห่างไกลโรค และภัยสุขภาพ โดยเฉพาะโรคไม่ติดต่อเรื้องรัง หรือ NCDs ด้วยการลดหรือไม่ใช้ยาเคมีในการรักษา แต่ให้นำแนวคิดเวชศาสตร์วิถีชีวิตและสุขภาพองค์รวม มาใช้ดูแล ส่งเสริมสุขภาพ ดังนั้น กรม สบส. ในฐานะหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการดูแลเครือข่ายสาธารณสุขภาคประชาชนอย่าง อสม. จึงได้เร่งผลักดันแนวทางการเสริมสร้างความเข้มแข็งของเครือข่าย อสม. ตามแนวคิด “NCDs ดีได้ ด้วยกลไก อสม.” เดินหน้าสนับสนุนองค์ความรู้ในการดูแล และปรับพฤติกรรมสุขภาพให้กับ อสม. ได้นำไปใช้ปฏิบัติและส่งต่อสู่ชุมชน โดยเฉพาะ การวางแผนรับประทานคาร์โบไฮเดรตหรือเรียกสั้นๆ ว่าคาร์บ ในชื่อกิจกรรม “อสม. ชวนนับคาร์บ” ซึ่งตั้งเป้าภายในสิ้นปี 2567 อสม. ทั่วประเทศ สามารถเข้าใจความหมาย และสูตรคำนวณปริมาณการรับประทานคาร์บ รวมทั้ง เป็นแกนนำสุขภาพลงเคาะประตูบ้านให้ความรู้ชาวชุมชนในการคำนวณปริมาณคาร์บที่ควรได้รับในแต่ละวัน โดยใช้แอปพลิเคชัน SMART อสม. พร้อมบันทึกข้อมูลสุขภาพของประชาชนลงในแอปพลิเคชัน SMART อสม. ซึ่งเชื่อมโยงกับระบบ “3 หมอรู้จักคุณ” เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการดูแลสุขภาพประชาชน โดยจะมีการขอความร่วมมือจากประธานชมรม อสม. ในทุกระดับทั้ง ภาค เขต หรือจังหวัด ฯลฯ ร่วมติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินกิจกรรม “อสม. ชวนนับคาร์บ” ให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามที่กระทรวงสาธารณสุขตั้งเป้าหมายไว้ในการป้องกัน และลดความเสี่ยงการเกิดโรค NCDs ของประชาชนชาวไทย
นายแพทย์กรกฤช ลิ้มสมมุติ รองอธิบดีกรม สบส. กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจาก กิจกรรม “อสม. ชวนนับคาร์บ” แล้ว เพื่อให้การลดโรค NCDs ดำเนินการโดยรวดเร็ว กรม สบส. ยังกำหนดแนวทางเสริมความเข้มแข็งให้ อสม. ได้ร่วมมีบทบาทในการลดโรค NCDs ใน 5 ด้าน ได้แก่ 1. อสม. คัดกรองสุขภาพประชาชน อายุ 35 ปีขึ้นไป โดยใช้แอปพลิเคชัน SMART อสม. 2. อสม.ให้คำแนะนำในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ ได้แก่ การนับคาร์บ/การควบคุมอาหารหวาน มัน เค็ม/ การออกกำลังกาย 3. สร้างอาสาสมัครประจำครอบครัว (อสค.) ดูแลการกินยา สุขภาพใจ จัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม ตามแนวทางกรม สบส. 4. ติดตามเยี่ยมบ้านร่วมกับเจ้าหน้าที่ วางแผน ติดตาม ประเมินสุขภาพร่วมกับเจ้าหน้าที่ประจำทุกสัปดาห์/เดือนและส่งต่อ NCDs คลินิก และ 5. ร่วมกิจกรรมรณรงค์แก้ไขปัญหา NCDs ในชุมชน สนับสนุนให้เกิดมาตรการชุมชน เชื่อมประเด็นกับคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งของเครือข่าย อสม.ภาคประชาชน และชุมชน ต่อไป