อย. แนะผู้ขับขี่ยานพาหนะ ให้อ่านฉลากก่อนใช้ยา ระวังการใช้ยาที่อาจส่งผลต่อการขับขี่ เพื่อความปลอดภัยต่อตนเองและผู้ใช้ถนน
นพ.วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ในโอกาส “วันโลกรำลึกถึงผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน” หรือ World Day of Remembrance for Road Traffic Victims ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันที่ 17 พฤศจิกายน 2567 เพื่อสร้างความตระหนักถึงผลกระทบของอุบัติเหตุทางถนนที่มีต่อผู้ประสบเหตุ ครอบครัว และชุมชน โดยมีเป้าหมายให้ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญในการป้องกันอุบัติเหตุและพัฒนาความปลอดภัยทางถนนร่วมกัน ซึ่งประเทศไทยมีอัตราการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนสูงเป็นอันดับ 9 ของโลก หนึ่งในสาเหตุหลักของอุบัติเหตุเหล่านี้ คือ “การหลับใน” ซึ่งมักเกิดจากความเหนื่อยล้า อดหลับอดนอน หรือการใช้ยาที่ส่งผลให้ง่วงซึม
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ตระหนักและเล็งเห็นความสำคัญดังกล่าว จึงขอเตือน ผู้ขับขี่ยานพาหนะ ให้ระมัดระวังในการใช้ยาบางประเภทที่อาจส่งผลกระทบต่อการขับขี่ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงของอุบัติเหตุ เช่น
1. ยาแก้แพ้/ยาแก้เมารถ เช่น คลอเฟนิรามีน ไดเมนไฮดริเนต
2. ยาคลายเครียด/ยานอนหลับ/ยารักษาโรคจิตเวช เช่น ไดอะซีแพม อัลปราโซแลม
3. ยาแก้ไอที่เป็นอนุพันธ์ของฝิ่น เช่น ยาน้ำดำที่มีส่วนผสมของโคเดอีน
4. ยาคลายกล้ามเนื้อ/ยาแก้ปวดเมื่อย
5. ยาอื่น ๆ ที่มีผลรบกวนการขับขี่ยานพาหนะ เช่น ยารักษาโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง
รองเลขาธิการ ฯ กล่าวย้ำในตอนท้ายว่า ผู้ขับขี่ควรอ่านคำเตือนบนฉลากและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด หากยามีคำเตือนว่า “ยานี้ทำให้ง่วงซึม” ควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานยนต์ หรือทำงานกับเครื่องจักรกล เพื่อความปลอดภัย ควรซื้อยาจากร้านขายยาที่มีเภสัชกรประจำเพื่อรับคำแนะนำการใช้ยาได้อย่างถูกต้อง