สุราษฎร์ธานี/พอช.และเครือข่ายกองทุนสวัสดิการชุมชน 14 จังหวัดภาคใต้ จัดสมัชชาฯ ครั้งที่ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างโอกาสความเสมอภาค เพื่อสังคมสันติสุข อย่างยั่งยืน โดยในภาคใต้ 14 จังหวัดจัดตั้งกองทุนแล้ว 1,115 กองทุน มีเงินกองทุนรวมกัน 3,086 ล้านบาท ขณะที่ทั่วประเทศจัดตั้งกองทุนสวัสดิการแล้ว 5,997 กองทุน มีเงินรวมกันกว่า 15,360 ล้านบาท
กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลเริ่มมีการจัดตั้งครั้งแรกในปี 2547 โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) สนับสนุนให้ประชาชนในตำบลต่างๆ รวมกลุ่มกันจัดตั้งกองทุนเพื่อนำเงินมาช่วยเหลือสมาชิก โดยมีหลักการสำคัญคือ ให้สมาชิกสมทบเงินเข้ากองทุนคนละ 1 บาท/วัน หรือเดือนละ 30 บาท หรือปีละ 365 บาท (ตามความสะดวก) เพื่อนำเงินกองทุนมาช่วยเหลือสมาชิก (ตามแต่ข้อตกลง) เช่น เกิด เจ็บป่วย เสียชีวิต ส่งเสริมการศึกษา อาชีพ ฯลฯ
ต่อมาในภายหลังรัฐบาลได้สมทบเงินเข้ากองทุนสวัสดิการชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ ในอัตรา 1 ต่อ 1 (สมาชิกสมทบ 1 บาท รัฐบาลสมทบ 1 บาท) รวมทั้งองค์กรปกครองท้องถิ่นและภาคเอกชนร่วมสมทบทำให้กองทุนสวัสดิการชุมชนเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันมีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนทั่วประเทศแล้ว 5,997 กองทุน มีสมาชิกรวมกันจำนวน 5,785,197 ราย มีเงินกองทุนรวมกันประมาณ 15,360 ล้านบาท
ล่าสุดวันที่ 9 กันยายน มีการจัดงาน ‘สมัชชาสวัสดิการชุมชนภาคใต้ ครั้งที่ 1 สร้างโอกาสความเสมอภาค เพื่อสังคมสันติสุข อย่างยั่งยืน’ และโครงการส่งเสริมพัฒนาศักยภาพแกนนำเครือข่ายกองทุนสวัสดิการชุมชนจังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่โรงแรมนิภา การ์เด้นท์ จ.สุราษฎร์ธานี มีการจัดแสดงนิทรรศการผลงานกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลต่างๆ ในภาคใต้ มีเวทีเสวนา ฯลฯ โดยมีนายสมชาติ ภาระสุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ เป็นประธานในการจัดสมัชชาฯ มีผู้แทนและสมาชิกกองทุนสวัสดิการชุมชน 14 จังหวัดภาคใต้เข้าร่วมงานประมาณ 1,000 คน
นายสมชาติ ภาระสุวรรณ ผอ.กล่าวว่า การจัดสมัชชาสวัสดิการชุมชนภาคใต้ครั้งที่ 1 แม้ว่าจะเป็นครั้งแรกแต่ก็มีความสำคัญ เพราะจะทำให้กองทุนสวัสดิการชุมชนฯ ในภาคใต้มีความตื่นตัวและนำไปสู่ความเข้มแข็ง รวมทั้งขยายฐานสมาชิกเพิ่มขึ้นอีก ส่วนสมาชิกกองทุนสวัสดิการชุมชนทั่วประเทศขณะนี้มีมากกว่า 5 ล้านคน และมีเป้าหมายจะขยายสมาชิกเป็น 10 ล้านคนภายในปี 2565
“การที่ประชาชนพึ่งพาตนเองโดยการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนขึ้นมาเป็นเรื่องสำคัญ เพราะ 1.เป็นการระเบิดจากข้างใน เป็นความต้องการของพี่น้องประชาชนที่จะช่วยเหลือกัน โดยรัฐให้การสนับสนุน 2.กองทุนสวัสดิการชุมชนเชื่อมโยงและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 ด้านการลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมในสังคม” นายสมชาติกล่าว
ผอ.พอช.ยังกล่าวด้วยว่า กองทุนสวัสดิการชุมชนเป็นการสร้างความสัมพันธ์ใหม่ ระหว่างกองทุนสวัสดิการชุมชนกับผู้เดือดร้อนและองค์กรปกครองท้องถิ่น เช่น ที่ตำบลบ้านส้อง อ.เวียงสระ จ.สุราษฎร์ธานี กองทุนสวัสดิการชุมชนฯ ร่วมกับเทศบาลตำบลบ้านส้องได้ร่วมกันช่วยเหลือซ่อมแซมบ้านเรือนผู้พิการ ทำให้สภาพบ้านเรือนมีความมั่นคงแข็งแรง ผู้พิการใช้ชีวิตได้สะดวกสบายขึ้น นอกจากนี้เทศบาลฯ และภาคเอกชนยังร่วมกันสมทบเงินเข้ากองทุนฯ ทำให้กองทุนเกิดความยั่งยืน สมาชิกกองทุนได้รับการช่วยเหลืออย่างทั่วถึง
ในช่วงท้ายของการจัดสมัชชาฯ ผู้แทนกองทุนสวัสดิการชุมชนภาคใต้ได้ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ มีเนื้อหาส่วนหนึ่งว่า “พวกเราผู้แทนเครือข่ายสวัสดิการชุมชนภาคใต้ 14 จังหวัด 1,115 กองทุน ขอประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันว่า เพื่อให้การสร้างหลักประกันความมั่นคงในชีวิตของชาวชุมชนมีความยั่งยืน พวกเราจะมุ่งมั่นสร้างระบบสวัสดิการชุมชนที่อยู่บนพื้นฐานของการพึ่งพาตนเองและการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน บนหลักการ ‘ให้อย่างมีคุณค่าและรับอย่างมีศักดิ์ศรี’
ตลอดจนสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคมให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ชุมชนเข้มแข็ง สามารถจัดการตนเองได้ และเป็นพลังขับเคลื่อนสังคมไทยร่วมกับภาคีทุกเครือข่าย โดยจะยกระดับคุณภาพกองทุนฯ ให้มีการบริหารจัดการที่ดี มีธรรมาภิบาล พัฒนาเครือข่ายสวัสดิการชุมชนให้เข้มแข็งทั้งในระดับจังหวัด ภาค และประเทศ และยกระดับการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อพัฒนาให้สวัสดิการชุมชนเป็นระบบหนึ่งของระบบสวัสดิการสังคมต่อไป”
นอกจากการจัดสมัชชาฯ ดังกล่าวแล้ว ในช่วงเช้าวันนี้ (9 กันยายน) มีการจัดงานสวัสดิการชุมชนที่เทศบาลตำบลบ้านส้อง อ.เวียงสระ จ.สุราษฎร์ธานี โดยมีคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการเดินทางมาเป็นผู้แทนของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยเยี่ยมชมผลการดำเนินงานของกองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลบ้านส้อง โดยมีนางแจ่มจิตร์ พูลสวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี และนายสมชาติ ภาระสุวรรณ ผอ.พอช.ให้การต้อนรับ โดยคุณหญิงกัลยาได้มอบเครื่องอุปโภคบริโภคให้แก่ผู้ด้อยโอกาส 36 ราย และมอบเกียรติบัตรให้แก่ครอบครัวที่เป็นสมาชิกกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลทั้งครอบครัวรวม 114 ครัวเรือน
นายสุวัฒน์ ดาวเรือง ประธานกองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลบ้านส้อง เล่าว่า กองทุนฯ ก่อตั้งเมื่อปี 2539 เริ่มจากแกนนำกลุ่มอาสาสมัครต่อต้านยาเสพติดจำนวน 150 คน จากนั้นจึงพัฒนาเป็นกองทุนสวัสดิการชุมชนในปี 2554 ปัจจุบันมีสมาชิกรวม 3,590 ราย มีเงินกองทุนประมาณ 6.3 ล้านบาท ให้สมาชิกสมทบเงินเป็นรายปีๆ ละ 365 บาท มีสวัสดิการต่างๆ ช่วยเหลือสมาชิก เช่น เจ็บป่วยนอนโรงพยาบาลช่วยเหลือคืนละ 1,000 บาท ไม่เกิน 6 คืน ปีหนึ่งไม่เกิน 2 ครั้ง อุบัติเหตุช่วยเหลือ 1,000 บาท ตาบอดช่วยข้างละ 10,000 บาท คลอดบุตร 2,000 บาท เสียชีวิต (เป็นสมาชิกครบ 6 เดือนขึ้นไป) 30,000 บาท ฯลฯ
นอกจากนี้กองทุนฯ ยังช่วยเหลือสมาชิกในการประกอบอาชีพ เช่น ให้เปล่า 1,000 บาท ให้ยืมประกอบอาชีพ 2,000 บาท ส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน ร่วมต่อต้านยาเสพติด เช่น ให้ทุนในการฝึกอบรมอาชีพเยาวชน ช่วยสมาชิกหรือชาวชุมชนที่มีฐานะยากจนซ่อมแซมบ้านเรือน ให้ผู้ด้อยโอกาสในตำบลเป็นสมาชิกโดยไม่ต้องสมทบเงินเข้ากองทุน (หมู่บ้านละ 2 คน) ฯลฯ
“สิ่งที่สำคัญที่ทำให้กองทุนเติบโตและยั่งยืนมาจากการร่วมกันสร้างกองทุน คือ 1.เงินสมทบจากสมาชิกคนละ 365 บาทต่อปี 2.เงินสมทบจากรัฐบาลผ่าน พอช. 3.เงินสมทบจากเทศบาลตำบลบ้านส้องที่สนับสนุนปีละ 500,000 บาท และปี 2563 จะสมทบอีก 900,000 บาท และ 4.เงินจากภาคเอกชน ห้างร้าน โรงเรียน ร่วมสมทบประมาณปีละ 500,000 บาท ทำให้กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลบ้านส้องมีความยั่งยืน สามารถช่วยเหลือพี่น้องประชาชน และผู้เดือดร้อนได้อย่างทั่วถึง” ประธานกองทุนฯ กล่าว