สถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 13 พ.ย. 67 เวลา 7.00 น.

1.สภาพอากาศวันนี้ : บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังอ่อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอุณหภูมิสูงขึ้น กับมีหมอกในตอนเช้า แต่ยังคงทำให้ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอากาศเย็นในตอนเช้า มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยตอนบนและภาคใต้ตอนบนมีกำลังอ่อนลง ในขณะที่ร่องมรสุมพาดผ่านภาคใต้ตอนล่างและประเทศมาเลเซีย ทำให้ภาคใต้ยังคงมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง

พายุโซนร้อน “โทราจี” บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน คาดว่าจะเคลื่อนเข้าใกล้เกาะไหหลำ ประเทศจีน ในช่วงวันที่ 14-15 พ.ย. 67 และจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชัน และหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงตามลำดับ โดยพายุนี้ไม่มีผลต่อลักษณะอากาศของประเทศไทยโดยตรง

2. สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม : ปริมาณน้ำรวม 82% ของความจุเก็บกัก (66,153 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 72% (41,953 ล้าน ลบ.ม.)
• เฝ้าระวังแหล่งน้ำขนาดใหญ่ระดับน้ำต่ำกว่าระดับควบคุมต่ำสุดหรือมีน้ำใช้การน้อยกว่า 30% 3 แห่ง ดังนี้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : น้ำพุง จุฬาภรณ์ และลำตะคอง
• พร่องน้ำเตรียมรองรับน้ำในฤดูฝน 1 แห่ง ภาคใต้ : บางลาง

3. คุณภาพน้ำ : แม่น้ำสายหลัก 4 สาย (เจ้าพระยา ท่าจีน แม่กลอง และบางปะกง) อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน

4. พื้นที่เสี่ยงน้ำหลากฝดินถล่ม : พื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังน้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม ในช่วง 1-3 วัน บริเวณ ภาคใต้ จำนวน 7 จังหวัด ได้แก่ จ.สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส

5. แนวทางการบริหารจัดการน้ำ : เมื่อวันที่ 11 พ.ย. 67 สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เข้าร่วมการประชุมคณะทำงานบริหารจัดการน้ำเขื่อนบางลาง ครั้งที่ 6/2567 โดยมี รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา เป็นประธานฯ โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบแผนการระบายน้ำของเขื่อนบางลาง ให้รักษาการระบายน้ำอยู่ที่ระดับต่ำกว่าเกณฑ์เก็บกักน้ำต่ำสุด (Lower Rule Curve) 50 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นการระบายน้ำตามปริมาณน้ำที่ไหลเข้าเขื่อนบางลางโดยระบายน้ำสูงสุดไม่เกินวันละ 10 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อเนื่องไปจนกว่าจะมีแผนปรับการระบายน้ำ ในระหว่างนี้หากการระบายน้ำดังกล่าวส่งผลให้เกิดน้ำล้นตลิ่งและกระทบต่อประชาชนให้กรมชลประทานประสานงานกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเพื่อปรับลดการระบายน้ำได้ทันที

6.การให้ความช่วยเหลือ : กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ลงพื้นที่ตรวจติดตามงานก่อสร้างระบบเติมน้ำใต้ดินระดับตื้น ผ่านบ่อวงคอนกรีตโครงการเติมน้ำใต้ดินระดับตื้น ณ บ้านนา หมู่ที่ 6 ตำบลห้วยแห้ง อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี ความลึกเจาะ 6 เมตร ความลึกพัฒนา 6 เมตร ซึ่งได้ดำเนินการก่อสร้างเสร็จและมีแผนงานโครงการเติมน้ำใต้ดินระดับตื้น รวมทั้งสิ้น 507 แห่ง ในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ ชัยนาท นครสวรรค์ พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง และอุทัยธานี ซึ่งกรมทรัพยากรน้ำบาดาล รับผิดชอบก่อสร้างระบบเติมน้ำใต้ดินระดับตื้นผ่านบ่อวงคอนกรีต ในพื้นที่จังหวัดสิงห์บุรี สุพรรณบุรี และอุทัยธานี รวมจำนวน 90 แห่ง ปัจจุบันดำเนินการไปแล้ว 32 แห่ง คงเหลือ 58 แห่ง