“เพิ่มพูน” ห่วงความปลอดภัยช่วงเปิดเทอม วอนเช็กสภาพแวดล้อมและความสะอาด พร้อมตั้งการ์ดแนวทางป้องกัน

12 พฤศจิกายน 2567 – พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มีข้อห่วงใยเรื่องสุขอนามัยและสภาพแวดล้อมในสถานศึกษาในช่วงเปิดเทอม จากกรณีนักเรียนหลายร้อยคนในโรงเรียนแห่งหนึ่งเกิดอาการท้องเสียอย่างรุนแรงส่งผลให้ต้องหยุดการเรียนการสอน และเหตุการณ์ที่มีสัตว์เข้าไปในโรงเรียนอาจเกิดอันตรายต่อผู้เรียนและสร้างความกังวลในหมู่ผู้ปกครอง

รมว.ศธ. กล่าวว่า ช่วงเวลานี้หลายโรงเรียนเริ่มกลับมาเปิดภาคเรียนที่ 2 แล้ว และมีกิจกรรมที่ทำร่วมกันเป็นหมู่คณะอย่างเช่นงานกีฬาสี ขอให้ระมัดระวังความปลอดภัยจากการทำกิจกรรมต่าง ๆ รวมถึงความสะอาดจากการรับประทานอาหารของโรงเรียน ที่อาจมีการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัสจากการประกอบอาหารหรือปัจจัยอื่น จึงควรตรวจสอบและดูแลคุณภาพอาหารในโรงเรียนอย่างเข้มงวด รวมถึงการให้ความรู้แก่แม่ครัวเกี่ยวกับมาตรการสุขอนามัยในการเตรียมอาหาร

การรักษามาตรฐานสุขอนามัยอาหารในสถานศึกษาเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็น เพื่อความปลอดภัยและสุขภาพที่ดีของนักเรียนทุกคน ขอให้ทุกโรงเรียนต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันที่วางแผนไว้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด เน้นย้ำเรื่องความสะอาดของวัตถุดิบในการประกอบอาหารเป็นลำดับแรก เพื่อป้องกันการเกิดเหตุซ้ำอีกในอนาคต

ขณะเดียวกันเรื่องสภาพแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของนักเรียนก็สำคัญไม่แพ้กัน โดยเฉพาะเรื่องของสัตว์อันตรายจากพื้นที่ใกล้เคียงที่อาจเข้ามาภายในโรงเรียน ซึ่งเด็กที่อยู่ในวัยอยากรู้อาจสนใจและไปสัมผัสด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์จนเกิดอันตรายได้ หรือแม้แต่ สุนัข แมว นก วัว ควาย ม้า แพะ ที่ดูเหมือนเป็นสัตว์เลี้ยงปลอดภัยไม่มีพิษแต่ก็อาจเป็นพาหะนำโรคและเป็นอัตรายได้เช่นกัน เพราะเราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าสัตว์คิดอะไรอยู่หรือจะมาทำร้ายเราตอนไหน ดังนั้นการหลีกเลี่ยงให้ปลอดภัยคือทางที่ดีที่สุด

นอกจากนี้การปล่อยให้โรงเรียนมีสภาพแวดล้อมที่รกหรือไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่องก็ยิ่งทำให้สัตว์เหล่านี้มีที่หลบซ่อนและเข้ามาในบริเวณต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น ควรตรวจสอบสภาพแวดล้อมและทำความสะอาดพื้นที่โรงเรียนอย่างสม่ำเสมอ ปิดช่องทางที่สัตว์สามารถเข้าได้โดยเฉพาะบริเวณที่อาจเป็นแหล่งซ่อนของสัตว์ เช่น พุ่มไม้ ท่อระบายน้ำหรือพื้นที่ชื้นแฉะ สถานศึกษาที่ไม่มีรั้วรอบขอบชิดอาจหาลวดหนามมาขึงรอบบริเวณเพื่อป้องกันสัตว์ใหญ่ของเกษตรกรเข้ามาในโรงเรียน พร้อมให้ความรู้และวิธีการรับมือกับนักเรียนเมื่อพบเหตุการณ์เหล่านั้น รวมถึงวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นหากเกิดการถูกสัตว์พิษกัดต่อย แะละหากพบเห็นสัตว์อันตรายควรแจ้งเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบด้านความปลอดภัยเพื่อนำสัตว์ออกจากพื้นที่

ความปลอดภัยของนักเรียนถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุด และการร่วมมือกันระหว่างผู้ปกครอง ครู และบุคลากรในโรงเรียนเพื่อดูแลป้องกันและลดความเสี่ยงอันตรายในสถานศึกษา จะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและเหมาะสมสำหรับการเรียนรู้ของเด็ก ๆ ตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รมว.ศธ. กล่าว