สถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 12 พ.ย. 67 เวลา 7.00 น.

1.สภาพอากาศวันนี้ : ความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบน และทะเลจีนใต้ ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า สำหรับร่องมรสุมพาดผ่านภาคใต้ตอนล่าง และประเทศมาเลเซีย ประกอบกับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังปานกลางยังคงพัดปกคลุมอ่าวไทยตอนบนและภาคใต้ตอนบน ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักบางแห่ง

พายุโซนร้อน “หยินซิ่ง” บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน ได้เคลื่อนเข้าใกล้ชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนกลาง คาดว่าพายุนี้จะอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชันและหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงตามลำดับ

พายุโซนร้อน “โทราจี” บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน จะเคลื่อนเข้าใกล้เกาะไหหลำ ประเทศจีนและประเทศจีนตอนใต้ในช่วงวันที่ 14 – 15 พ.ย. 2567 และจะอ่อนกำลังลงตามลำดับ โดยพายุทั้งสองนี้ไม่เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย

2. สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม : ปริมาณน้ำรวม 82% ของความจุเก็บกัก (66,151 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 72% (41,951 ล้าน ลบ.ม.)
• เฝ้าระวังแหล่งน้ำขนาดใหญ่ระดับน้ำต่ำกว่าระดับควบคุมต่ำสุดหรือมีน้ำใช้การน้อยกว่า 30% 3 แห่ง ดังนี้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : น้ำพุง จุฬาภรณ์ และลำตะคอง
• พร่องน้ำเตรียมรองรับน้ำในฤดูฝน 1 แห่ง ภาคใต้ : บางลาง

3. คุณภาพน้ำ : แม่น้ำสายหลัก 4 สาย (เจ้าพระยา ท่าจีน แม่กลอง และบางปะกง) อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน

4. พื้นที่เสี่ยงน้ำหลากฝดินถล่ม : พื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังน้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม ในช่วง 1-3 วัน บริเวณ ภาคใต้ จำนวน 8 จังหวัด ได้แก่ จ.ชุมพร สุราษฎร์ธานี พัทลุง นครศรีธรรมราช สงขลา ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส

5. แนวทางการบริหารจัดการน้ำ : วานนี้ (11 พ.ย. 67) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่ 5/2567 พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยได้ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานตามมาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2567/68 และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ปี 2568 โดยมอบหมายให้กรมชลประทานและกรมส่งเสริมการเกษตร ประชาสัมพันธ์แผนการจัดสรรน้ำและแผนการเพาะปลูกพืช พร้อมควบคุมการใช้น้ำและพื้นที่เพาะปลูก โดยเฉพาะในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยาให้เป็นไปตามแผนอย่างเคร่งครัด สำหรับอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำมูลที่มีปริมาณน้ำน้อย ให้กรมชลประทานสนับสนุนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคให้เพียงพอตลอดช่วงฤดูแล้ง และเตรียมความพร้อมให้ความช่วยเหลือในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ

นอกจากนี้ มีการติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ฝนตกหนักในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งมีความเสี่ยงเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม โดยได้เน้นย้ำเรื่องการประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับทราบล่วงหน้าและเตรียมตัวได้ทันท่วงที รวมถึงกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในระยะยาว เพื่อวางแผนการพัฒนาโครงการที่สามารถรองรับการป้องกันแก้ไขปัญหาอุทกภัยในทุกพื้นที่ทั่วประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ในที่ประชุมยังได้มีมติเห็นชอบแผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำ ประจำปีงบประมาณ 2569 ผ่านระบบ Thai Water Plan ซึ่งได้กำหนดให้มีการปรับปรุงปฏิทินการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำเพื่อปรับช่วงเวลาการดำเนินงานในแต่ละขั้นตอนให้มีความสอดคล้องกัน โดย สทนช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะเร่งขับเคลื่อนแผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศให้มีประสิทธิภาพสูงสุด