รมว.ทส. “เฉลิมชัย” เร่งแก้วิกฤตพะยูน มอบกรมทะเล – กรมอุทยานฯ หาทางออกร่วมกัน

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์พะยูนเกยตื้นในช่วงวันที่ 1 ต.ค. – 5 พ.ย. 2567 ที่ผ่านมา พบพะยูนเกยตื้นทั้งหมด 10 ตัว เป็นการเกยตื้นมีชีวิต 1 ตัว ที่จังหวัดตรัง ซึ่งเสียชีวิตในวันต่อมา และเป็นซากเกยตื้น 9 ตัว จังหวัดที่พบการเกยตื้นคือจังหวัดสตูล 3 ตัว ภูเก็ต 3 ตัว ตรัง 3 ตัว และกระบี่ 1 ตัว สามารถระบุสาเหตุการตายได้ 5 ตัว ส่วนใหญ่มีสาเหตุจากอาการป่วยเนื่องจากการขาดอาหาร 4 ตัว พบว่ามีร่างกายผอม ไม่พบอาหารในทางเดินอาหารหรือพบเพียงเล็กน้อย และมีพะยูน 1 ตัว ที่สงสัยว่าติดเครื่องมือประมง เนื่องจากมีรอยเชือกรัดบริเวณลำตัว อีกทั้งภาวะการขาดอาหารของพะยูน เกิดจากพะยูนได้รับอาหารไม่เพียงพอป่วยจนไม่สามารถหาอาหารเองได้ จากสถานการณ์พะยูนในขณะนี้สามารถบ่งชี้ถึงแหล่งอาหารที่ไม่เพียงพอ โดยพื้นที่หลักที่เกยตื้นส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่จังหวัดตรัง ซึ่งกำลังเผชิญปัญหาแหล่งหญ้าทะเลเสื่อมโทรม จากการสำรวจพะยูนในพื้นที่จังหวัดตรังในปี 2567 พบพะยูนประมาณ 138 ตัว ซึ่งลดลงจากปี 2566 ที่พบถึง 194 ตัว ปัจจุบันอาจมีน้อยกว่านี้จากสถานการณ์หญ้าทะเลตาย เนื่องจากปกติพะยูนมีการย้ายถิ่นได้ระยะไกลถึง 150 กิโลเมตร

โดยในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2567 ตนได้มอบหมายให้นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หารือร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยมี ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เร่งระดมความคิดเห็นในการกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาวิกฤตพะยูนเกยตื้นให้เป็นรูปธรรม

ในการนี้ ที่ประชุมได้ออกมาตรการเร่งด่วน 4 มาตรการ เพื่อแก้ไขปัญหาพะยูนเกยตื้นและหญ้าทะเลเสื่อมโทรม โดยมีรายละเอียดดังนี้ 1.เร่งเพิ่มประสิทธิภาพการสำรวจประชากรพะยูนด้วยอากาศยานไร้คนขับชนิดปีกตรึง (Fixed-wings Unmanned Aerial Vehicle: Fixed-wings UAV) และแบบสำรวจการพบเห็นพะยูน 2.กำหนดแผนช่วยเหลือพะยูน โดยมีการจัดเตรียมทีมสัตวแพทย์และชุดลาดตระเวนเคลื่อนที่เร็วเฝ้าระวังบริเวณ 7 พื้นที่หลักได้แก่ ระนอง พังงาตะวันตก อ่าวพังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล ถือเป็นแหล่งพะยูนอาศัย โดยหากพบการเกยตื้น ทีมเคลื่อนที่เร็วจะเข้าปฐมพยาบาลโดยทันที พร้อมเตรียมกระชังขนาดใหญ่รองรับเพื่อให้ สามารถควบคุมพื้นที่และปริมาณอาหาร 3. เพิ่มพื้นที่การทดลองและพัฒนาแนวทางการเสริมอาหารให้กับพะยูน เช่น สาหร่ายทะเล ผักกวางตุ้ง ผักกาดขาว ซึ่งเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะนำมาให้พะยูนในภาวะอาหารขาดแคลน เพราะองค์ประกอบและสารอาหารในพืชผักมีคุณสมบัติไม่ต่างจากหญ้าทะเลมากนัก 4.กำหนดแผนฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเล ด้วยวิธีปลูกหญ้าทะเลบนบ่อดินและทำกระชังปลูกหญ้าทะเล รวมถึงวิจัยและฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเลตามธรรมชาติ พะยูนใน 7 พื้นที่ ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม อธิบดีฯ ทั้งสองหน่วยงาน กำหนดลงพื้นที่เพื่อร่วมพูดคุยกับผู้นำท้องถิ่นถึงมาตรการดังกล่าว อีกทั้งติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิดจนกว่าปัญหาจะคลี่คลาย “ดร.เฉลิมชัย รมว.ทส. กล่าวทิ้งท้าย”