รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เดินหน้านโยบาย “คนไทยห่างไกล NCDs” ต่อเนื่อง ลงพื้นที่นำ อสม. 11 จังหวัดภาคอีสานตอนบน เรียนรู้การนับคาร์บ ปรับพฤติกรรมการกิน “โปรตีนอย่าให้ขาด คาร์บอย่าให้เกิน เพิ่มเติมด้วยไขมันดี” มุ่งเป้าลดการป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ลดค่าใช้จ่ายของประชาชนและประเทศ
วันที่ 10 พฤศจิกายน 2567 ที่มหาวิทยาลัยนครพนม จังหวัดนครพนม นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.ภูวเดช สุระโคตร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดกิจกรรมการขับเคลื่อนนโยบายคนไทยห่างไกลโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ครั้งที่ 2 โดยมีผู้บริหารจากส่วนกลางและส่วนภูมิภาคในเขตสุขภาพที่ 7 และ 8 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อสม. ร่วมงานรวม 3,300 คน
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ปัจจุบันคนไทยจำนวนมากป่วยจากกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs อาทิ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคไต โรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น ซึ่งมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต ทั้งการกินอาหารที่ไม่เหมาะสมและขาดการออกกำลังกาย และมีแนวโน้มที่จะพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากโรคเหล่านี้จำนวนมาก เพื่อเป็นการลดจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ ลดความรุนแรงของการเจ็บป่วยในผู้ป่วยรายเก่า จึงส่งเสริมให้ อสม. หมอคนที่ 1 ที่มีกว่า 1.07 ล้านคนทั่วประเทศ ทำหน้าที่ให้ความรู้ความเข้าใจ และกระตุ้นให้ประชาชนปรับพฤติกรรมการกินแบบนับคาร์บ หรือคาร์โบไฮเดรตที่มาจากอาหารกลุ่มแป้งและน้ำตาล ซึ่ง อสม. 1 คน จะดูแลประชาชนประมาณ 50 คน ดังนั้น จะช่วยให้ประชาชนกว่า 50 ล้านคนกลับมามีพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสมและมีสุขภาพที่ดี ลดการเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากโรค NCDs และลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจของประเทศได้
“เมื่อคำนวณหาปริมาณคาร์บเป็น จะช่วยให้เรากินอาหารได้ถูกสัดส่วน โดยโปรตีนอย่าให้ขาด คือ 1-2 กรัม ต่อ 1 กิโลกรัมน้ำหนักตัว คาร์บอย่าให้เกิน คือ 5-20% ของพลังงานที่ใช้ต่อวัน และเพิ่มเติมด้วยไขมันดีอีก 60-70% ของพลังงานที่ใช้ต่อวัน ร่วมกับมีการออกกำลังกายสม่ำเสมอ จะช่วยลดการเกิดโรค NCDs ได้” นายสมศักดิ์กล่าว
ด้าน นพ.ภูวเดช กล่าวว่า จัดกิจกรรมการขับเคลื่อนนโยบาย คนไทยห่างไกลโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ดำเนินการในพื้นที่ภาคอีสานตอนบน คือเขตสุขภาพที่ 7 (ร้อยเอ็ด ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์) และเขตสุขภาพที่ 8 (เลย บึงกาฬ หนองคาย หนองบัวลำภู อุดรธานี นครพนม สกลนคร) ซึ่งจากฐานข้อมูลปีงบประมาณ 2563 – 2567 พบว่า เขตสุขภาพที่ 7 มีอัตราป่วยโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ผู้ป่วยเบาหวานที่ควบคุมน้ำตาลได้ดีอยู่ที่ร้อยละ 31.55 ต่ำกว่าค่าเป้าหมายคือไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงที่ควบคุมได้ดี ร้อยละ 63.95 สูงกว่ากว่าค่าเป้าหมายคือไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 สำหรับเขตสุขภาพที่ 8 ในปี 2567 พบผู้ป่วยโรคเบาหวานรายใหม่ 659.64 ต่อแสนประชากร ซึ่งสูงกว่าภาพรวมของประเทศ ผู้ป่วยที่ควบคุมน้ำตาลได้ดี อยู่ที่ร้อยละ 30.64 ส่วนผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงรายใหม่ 1,204.38 ต่อแสนประชากร ต่ำกว่าภาพรวมของประเทศ ผู้ป่วยที่ควบคุมความดันโลหิตได้ดี อยู่ที่ร้อยละ 63.07 ซึ่งทุกพื้นที่จะร่วมกับขับเคลื่อนตามนโยบายคนไทยห่างไกลโรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่อไป