กรมการจัดหางาน แจงกระบวนการทำ CI สะดวก รวดเร็ว ยืนยันเตรียมแนวทางการจัดการแรงงานข้ามชาติกันหลุดจากระบบ

อธิบดีกรมการจัดหางาน แจงขั้นตอนการทำเอกสารรับรองบุคคล (Certificate of Identity: CI) ชำระค่าธรรมเนียมที่เคาน์เตอร์เซอร์วิส นัดหมายวัน เวลาเข้าศูนย์ CI บริการรวดเร็ว สะดวก กำกับดูแล ตรวจสอบใกล้ชิด ย้ำมติ ครม. ล่าสุด ช่วยแรงงานข้ามชาติไม่หลุดจากระบบ

นายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า จากกรณีตัวแทนกลุ่มนายจ้างที่จ้างแรงงานข้ามชาติ มีข้อกังกลเกี่ยวกับกระบวนการทำเอกสารรับรองสถานะบุคคล (CI) มีความซ้ำซ้อน ซึ่งอาจส่งผลให้ไม่สามารถขึ้นทะเบียนแรงงานได้ทันภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2567 ทำให้แรงงานข้ามชาติหลายแสนคน ต้องหลุดออกจากระบบนั้น เกี่ยวกับเรื่องนี้ กรมการจัดหางาน ขอชี้แจงว่า การทำเอกสารรับรองบุคคล เป็นการดำเนินการของทางการเมียนมา ภายในศูนย์พิสูจน์สัญชาติ ซึ่งทางการเมียนมากำหนดให้แรงงานจะต้องชำระเงินค่าธรรมเนียมที่เคาน์เตอร์เซอร์วิส พร้อมนัดหมายวัน เวลาเข้าศูนย์ฯ โดยขั้นตอนการดำเนินการเป็นไปตามวิธีการของทางการเมียนมา ไม่มีความยุ่งยาก ซับซ้อนแต่อย่างใด

ในส่วนของกรมการจัดหางาน ได้กำกับดูแลการดำเนินการของศูนย์อย่างใกล้ชิด ส่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบให้คำแนะนำอย่างสม่ำเสมอ จัดเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ฯ เพื่อให้บริการบันทึกข้อมูล CI และการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรที่แรงงานได้รับ โดยแต่งตั้งจัดหางานจังหวัดเป็นหัวหน้าศูนย์ฯ มอบหมายผู้ตรวจราชการกรม ตรวจ ติดตาม กำกับดูแล ไม่พบการเรียกรับเงินภายในศูนย์ฯ นายจ้างที่มาดำเนินการด้วยตนเองจำนวนน้อย ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ได้รับมอบอำนาจจากนายจ้าง ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายที่นายจ้างจะต้องรับผิดชอบ

นายสมชาย กล่าวต่อว่า สำหรับศูนย์พิสูจน์สัญชาติแรงงานเมียนมาได้จัดตั้งขึ้นจำนวน 8 แห่งใน 8 จังหวัดทั่วประเทศ ที่มีแรงงานต่างด้าวจำนวนมากและสะดวกในการเดินทาง แบ่งตามภาคต่างๆ ได้แก่ ภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ ภาคกลาง จังหวัดนครสวรรค์ ภาคตะวันออก จังหวัดชลบุรี ภาคใต้ จังหวัดสงขลา และสุราษฎร์ธานี ปริมณฑล จังหวัดปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีแรงงานน้อยสามารถใช้บริการในภาคกลางหรือปริมณฑลได้ โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 พบว่าแรงงานเมียนมาใช้บริการที่ศูนย์พิสูจน์สัญชาติไม่มากเท่าที่คาดไว้ จึงมีการปิดศูนย์ในจังหวัดสงขลาและนครสวรรค์ และปิดบริการต่อเนื่องในอีก 5 แห่ง เหลือเพียงศูนย์ที่จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งให้บริการจนถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2567 แต่ก็ยังคงมีผู้มาใช้บริการจำนวนไม่มาก

อย่างไรก็ตามกระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางาน ได้เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวในปี 2568 โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2567 เห็นชอบให้จดทะเบียนแรงงานต่างด้าวที่มีสถานะไม่ถูกกฎหมาย แรงงานจะได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรและได้รับอนุญาตทำงานเป็นเวลา 1 ปี และให้ต่ออายุใบอนุญาตทำงานของแรงงานต่างด้าวตามมติคณะรัฐมนตรีซึ่งใบอนุญาตทำงานหมดอายุในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 ในลักษณะ MoU แรงงานจะได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรและได้รับอนุญาตทำงานเป็นเวลา 2 ปี ต่ออายุได้อีกหนึ่งครั้งเป็นเวลา 2 ปี ดังนั้น แรงงานที่หลุดออกจากระบบ นายจ้างก็สามารถมาดำเนินการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวได้ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2567 ซึ่งกรมการจัดหางานได้เจรจากับทางการเมียนมา เพื่อร่วมกันกำหนดขั้นตอนใกล้เคียงกับการนำเข้าตาม MoU ปกติ ดำเนินการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ง่าย สะดวก รวดเร็ว โดยแรงงานไม่ต้องเดินทางออกไปนอกราชอาณาจักร แต่หากแรงงานต่างด้าวท่านใดประสงค์จะกลับออกไปนอกราชอาณาจักรก็สามารถทำได้ภายในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 และเมื่อกลับออกไปแล้วหากประสงค์จะทำงานต้องกลับเข้ามาทำงานตาม MoU

ทั้งนี้ นายจ้าง สถานประกอบการ ขอให้ติดตามข่าวสารจากกรมการจัดหางานอย่างใกล้ชิด ที่เว็บไซต์กรมการจัดหางาน doe.go.th หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 – 10 หรือสำนักงานจัดหางานจังหวัดทั่วประเทศ หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร. 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน และสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694