วันที่ 8 พฤศจิกายน 2567 ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เปิดเผยว่า สาเหตุหลัก ที่พะยูนตายในระยะหลังที่ผ่านมา ปฏิเสธไม่ได้ว่า การขาดอาหารหรือแหล่งอาหารไม่เพียงพอก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุ โดยพื้นที่หลักที่พบการเกยตื้นจะอยู่ในพื้นที่กำลังเผชิญปัญหาแหล่งหญ้าเสื่อมโทรม จากการติดตามสถานการณ์หญ้าทะเลในพื้นที่อันดามันตอนล่าง จังหวัดกระบี่ ตรัง และสตูล ซึ่งเป็นพื้นที่อาศัยหลักของพะยูนอย่างต่อเนื่อง พบว่ามีแนวโน้มลดลงทั้งพื้นที่และเปอร์เซนต์การปกคลุมของหญ้าทะเล โดยหญ้าคาทะเลยังคงมีสภาพเสื่อมโทรม ใบขาดสั้น มีลักษณะผึ่งแห้ง บางส่วนรากเหง้าเปื่อย หญ้าใบมะกรูด หญ้าชะเงาใบมน และหญ้าชะเงาเต่า มีพื้นที่และการปกคลุมพื้นที่ลดลงมาก การเปลี่ยนแปลงพบแหล่งหญ้าทะเลที่เสื่อมโทรมทั้งหมด 24,149 ไร่และการฟื้นตัวของหญ้าทะเลยังไม่ชัดเจน จึงจำเป็นต้องมีการติดตามอย่างต่อเนื่อง
ดร.ปิ่นสักก์ กล่าวต่อว่า จากการผ่าชันสูตรซาก พบองค์ประกอบของอาหารในกระเพาะพะยูนที่ตายมีสาหร่ายทะเลมากขึ้น แสดงให้เห็นว่าพะยูนในพื้นที่ทะเลอันดามันมีการปรับตัวอยู่พอสมควร แต่อาจต้องยอมรับว่าสาหร่ายยังเป็นแค่อาหารเสริมสำหรับพะยูน ไม่สามารถเป็นอาหารหลักแทนหญ้าทะเลได้ แต่ยังมีรายงานในต่างประเทศว่าพบสาหร่ายในมูลของพะยูน แต่ไม่สามารถระบุได้ว่าพะยูนกินเข้าไปโดยบังเอิญหรือตั้งใจกิน อย่างไรก็ตาม สาหร่ายทะเลจึงอาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะนำมาให้พะยูนในภาวะอาหารขาดแคลน แม้กระทั่งการให้ผักชนิดอื่นเสริมทดแทน เพราะองค์ประกอบและสารอาหารในพืชผักมีคุณสมบัติไม่ต่างจากหญ้าทะเลมากนัก รวมทั้งจากข้อมูลในต่างประเทศที่มีการเลี้ยงพะยูนในสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำ ก็มีการให้ผักเป็นอาหารเช่นกัน
ทั้งนี้ กรมทะเลฯ เริ่มมีการวางแปลงเสริมอาหารให้แก่พะยูน ที่หาดราไวย์ จังหวัดภูเก็ต และบริเวณเกาะลิบง จังหวัดตรัง มาตั้งแต่วันที่ 4 พ.ย. 67 โดยให้อาหารเป็นสาหร่ายทะเล ผักกวางตุ้ง และอื่น ๆ และจากการติดตามการกินอาหารในแปลงเสริมอาหารของพะยูน ในบริเวณหาดราไวย์ ล่าสุดเช้าวันที่ 8 พ.ย. พบว่าแปลงอาหารเสริมถูกกินจนเกลี้ยง และจากการใช้อากาศยานไร้คนขับบินตรวจสอบก็พบเจ้าหลังขาวใหญ่ว่ายวนเวียนอยู่ในบริเวณใกล้แปลงหญ้า และเมื่อเจ้าหน้าที่วางแปลงหญ้าชุดไม่นานก็พบเจ้าหลังขาวใหญ่มากินอาหารในแปลงแต่เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบจากภาพที่ถ่ายมาได้ พบว่าไม่สามารถตรวจสอบความชัดเจนได้ เนื่องจากสภาพน้ำขุ่น เจ้าหน้าที่จึงลงดำน้ำสำรวจ พบว่า พะยูน ตัวดังกล่าวได้กินแปลงอาหารเสริม ที่ประกอบด้วย สาหร่ายผมนาง ผักกวางตุ้ง ผักกาดขาว ผักคะน้า ผักบุ้ง จนหมด เหลือเพียงผักตบชวา ที่พะยูนยังไม่กิน ซึ่งเจ้าหน้าที่จะได้วางแผนติดตามผลการดำเนินงาน และพัฒนาแนวทางการเสริมอาหารให้กับพะยูนในช่วงสถานการณ์หญ้าทะเลเสื่อมโทรมนี้ต่อไป
สุดท้ายนี้ กรม ทช. ต้องขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนโดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่ให้ช่วยกันอนุรักษ์และสอดส่องดูแลสัตว์ทะเลหายาก รวมถึงทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยหากใครพบเจอสัตว์ทะเลหายากเกยตื้น สามารถแจ้งเหตุด่วนให้กรม ทช. ทราบ โทรสายด่วนพิทักษ์ป่าและรักษาทะเล 1362 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในแต่ละพื้นที่เข้าตรวจสอบและช่วยเหลือได้ทันท่วงทีต่อไป “ดร.ปิ่นสักก์ อธิบดีฯ กล่าวทิ้งท้าย”