กรมคุ้มครองสิทธิฯ นำทัพคณะผู้แทนไทยเสนอรายงานประเทศตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติ หรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี ฉบับที่ 2 ด้วยวาจา

ในระหว่างวันที่ 4-6 พฤศจิกายน 2567 (ตามเวลาท้องถิ่น) ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส คุณเอมอร เสียงใหญ่ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ในการนำเสนอรายงานประเทศตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติ หรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี ฉบับที่ 2 ด้วยวาจา ต่อคณะกรรมการสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน เป็นวันสุดท้าย โดยมี คุณดวงดาว เกียรติพิศาลสกุล รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เป็นรองหัวหน้าคณะผู้แทนไทยฯ คุณนรีลักษณ์ แพไชยภูมิ ผู้อำนวยการกองสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และคณะเจ้าหน้าที่กองสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และกระทรวงการต่างประเทศ ทำหน้าที่เลขานุการคณะผู้แทนไทยฯ และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กรมราชทัณฑ์ และกรมสอบสวนคดีพิเศษ เข้าร่วมนำเสนอรายงานประเทศฯ และชี้แจงต่อคณะกรรมการสหประชาชาติฯ โดยการนำเสนอรายงานประเทศฯ ดังกล่าว มีคุณ Claude Heller ประธานคณะกรรมการฯ เป็นประธาน

สำหรับในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2567 ผู้นำเสนอรายงานของประเทศไทย และคณะกรรมการฯ ได้มีคำถามเพิ่มเติมถึงการบันทึกภาพและเสียงในระหว่างควบคุมตัว การใช้มาตรฐานระหว่างประเทศในการตีความกฎหมาย สิทธิในการเข้าถึงทนายความ เป็นต้น โดยในช่วงแรกคณะผู้แทนไทย ได้ตอบคำถามต่อประเด็นที่คณะกรรมการฯ ได้สอบถามเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2567 (รายงานฯ วันแรก) ในประเด็นการคำนึงถึงหลักการใช้กำลังในการจัดการชุมนุม การดำเนินคดีค้ามนุษย์ การบังคับใช้กฎหมายพิเศษ การยกเลิกคำสั่ง คสช. การดำเนินการในคดีตากใบ ขอบเขตอำนาจการดำเนินคดีของศาล เกณฑ์การประกันตัว การคุ้มครองพยาน การดำเนินการต่อชาวโรฮีนจาแนวทางการแก้ไขปัญหาการตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศที่สาม การดำเนินการในคดีส่งผู้ร้ายข้ามแดน การสาธารณสุขและการบริหารจัดการในเรือนจำ การดูแลศูนย์ดูแลผู้ป่วยจิตเวช ผู้สูงอายุ และเด็ก การแก้ไขปัญหาความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ และความรุนแรงในครอบครัว การจัดการคดีล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กออนไลน์ การดำเนินการในกรณีการกระทำให้บุคคลสูญหายในต่างประเทศ การเพิ่มศักยภาพในการทำงานของ กสม. เป็นต้น โดยในส่วนของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพนั้น ผู้อำนวยการกองสิทธิมนุษยชนฯ และคุณฉัตราภรณ์ ดิษฐศรีพร นักวิชาการยุติธรรมชำนาญการ ได้ชี้แจงความคืบหน้าในการเข้าเป็นภาคี OPCAT โครงสร้างและบทบาทหน้าที่คณะกรรมการและอนุกรรมการตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ การคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน การจัดทำกฎหมาย Anti-Slapp แผนการดำเนินงานในการขับเคลื่อนพระราชบัญญัติฯ ข้อท้าทายในการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติฯ การฝึกอบรมเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพระราชบัญญัติฯ การทำงานร่วมกับภาคประชาสังคม และแผนการติดตามการปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการฯ เป็นต้น

อีกทั้งในช่วงสุดท้ายของการรายงานประเทศฯ คุณเอมอร เสียงใหญ่ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ได้กล่าวขอบคุณคณะกรรมการฯ พร้อมทั้งยืนยันถึงความตั้งใจจริงของไทยในการนำข้อเสนอแนะที่ได้รับจากคณะกรรมการฯ ไปปฏิบัติเพื่อให้เป็นไปตามพันธกรณีของอนุสัญญาฯ อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

ทั้งนี้ ฝ่ายเลขานุการจะได้จัดทำประเด็นคำตอบเพิ่มเติมเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการฯ ภายใน 48 ชั่วโมง และคณะกรรมการฯ จะเผยแพร่ข้อสังเกตโดยสรุป (Concluding Observations) ต่อสาธารณชน ในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2567 เวลา 13.00 น. โดยรัฐภาคีจะต้องรายงานความคืบหน้าในการตามข้อเสนอแนะที่เป็นประเด็นเร่งด่วนภายใน 12 เดือน ต่อไป