“Urban Solution for Climate Crisis : เมืองเพื่อการรองรับวิกฤตภูมิอากาศ” กรมโยธาธิการและผังเมือง ดึงผู้เชี่ยวชาญ เสวนา แลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์ร่วมสร้างเมืองแห่งอนาคต รับมือการเปลี่ยนแปลง

8 พฤศจิกายน 2567 / กระทรวงมหาดไทย โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง จัดสัมมนาทางวิชาการเนื่องในวันผังเมืองโลก เรื่อง “Urban Solution for Climate Crisis : เมืองเพื่อการรองรับวิกฤตภูมิอากาศ” ดึงผู้เชี่ยวชาญ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน มาร่วมแชร์ประสบการณ์ แลกเปลี่ยนแนวคิด เพื่อเป็นเวทีการขับเคลื่อนงานด้านการผังเมือง และเปิดมุมมองใหม่ ๆ ซึ่งเป็นรากฐานของการพัฒนาเมืองไปสู่ความยั่งยืนในอนาคต ทำให้เมืองมีความพร้อมในทุกมิติ สำหรับเมืองเพื่อการรองรับวิกฤตภูมิอากาศที่ทุกวันจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยการเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจ ต่อสาธารณชนเกี่ยวกับแนวคิดนวัตกรรม และแนวทางการนำผังเมืองไปสู่การปฏิบัติ อีกทั้ง เผยแพร่ ส่งเสริม และสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนตระหนักรู้ มีจิตสำนึกรับผิดชอบ มีส่วนร่วมตามบทบาทหน้าที่ที่เหมาะสม และเป็นกลไกขับเคลื่อนให้การพัฒนาด้านการผังเมืองของประเทศไทยบรรลุผลสำเร็จ โดยมี นางสาวซาบีดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วย นายราชันย์ ซุ้นหั้ว รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมงาน ว่าที่ร้อยเอก ธีรพงศ์ ครุธดิลกานันท์ รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวรายงาน นายสยาม ศิริมงคล อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายศิริพันธ์ ศรีกงพลี รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายชาญวิชญ์ สิริสุนทรานนท์ สถาปนิกใหญ่ กรมโยธาธิการและผังเมือง นายอิทธิพงศ์ ตันมณี หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรมโยธาธิการและผังเมือง นางสาว สุวรา ทวิชศรี รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการการประปานครหลวง Mr. Riccardo Maroso Programme Manager (UN-Habitat) พร้อมด้วย ผู้บริหาร ผู้อำนวยการสำนัก/กอง โยธาธิการและผังเมืองจังหวัด และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ร่วมการสัมมนา ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมโกลเด้น ทิวลิป ซอฟเฟอริน กรุงเทพมหานคร พร้อมทั้งสามารถร่วมงานสัมมนาผ่านระบบออนไลน์ทางแพลตฟอร์มFacebook และ Youtube ของกรมโยธาธิการและผังเมือง อีกช่องทางหนึ่ง

นางสาวซาบีดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ทั่วโลกกำลังเผชิญกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศซึ่งส่งผลกระทบต่ออุณหภูมิโลกสูงขึ้น จนส่งผลให้เกิดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น สภาพอากาศแปรปรวน ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ โครงสร้างพื้นฐาน การดำรงชีวิต การเกษตร และสุขภาพของมนุษย์ เกิดปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง น้ำหลากในหลายพื้นที่ เช่น จังหวัดเชียงราย จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดอุทัยธานี และคลื่นความร้อนบ่อยและรุนแรงขึ้น ประกอบกับเมืองและชุมชนมีการขยายตัวอย่างรวดเร็วอย่างไร้ทิศทางและขาดความสมดุล ทำให้พื้นที่เหล่านี้ได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ปัจจุบันทั่วโลกมีการตื่นตัว โดยใช้นโยบายในการบรรเทาและปรับตัวต่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้น ด้วยการเพิ่มพื้นที่ป่า พื้นที่สีเขียวในเมือง ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน มีการรักษาและฟื้นฟูสภาพแหล่งน้ำ และเน้นการวางผังเมืองให้เป็นเมืองคาร์บอนต่ำที่มีความยืดหยุ่นและปรับตัวได้ เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน อีกทั้งช่วยลดผลกระทบจากภัยพิบัติต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น

กระทรวงมหาดไทย โดยกรมโยธาธิการและผังเมืองได้จัดงานสัมมนาฯ ขึ้นในครั้งนี้ถือเป็นโอกาสอันดีที่จะทำให้ท่านผู้มีเกียรติจากทุกภาคส่วนได้ใช้เป็นเวทีแลกเปลี่ยน และรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงาน องค์กรที่เกี่ยวข้อง ในการออกแบบสร้างสรรค์เมือง และเป็นการขับเคลื่อนงานด้านการผังเมือง เพื่อให้เมืองมีความพร้อมในทุกมิติ สำหรับเมืองเพื่อการรองรับวิกฤตภูมิอากาศ ที่ทุกวันจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยเชื่อว่าหลายท่านจะได้นำแนวคิดที่ได้ในวันนี้ไปพัฒนาต่อยอดให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนและประเทศชาติต่อไป

ว่าที่ร้อยเอก ธีรพงศ์ ครุธดิลกานันท์ รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง รักษาราชการแทนอธิบดี กรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า กรมโยธาธิการและผังเมือง ดำเนินการจัดสัมมนาทางวิชาการเนื่องในวันผังเมืองโลก อย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี เพื่อเผยแพร่และแลกเปลี่ยนความรู้ด้านการผังเมือง ตลอดจนส่งเสริมและสนับสนุนให้ทุกภาคส่วน รวมทั้งประชาชนได้ตระหนักถึงบทบาทและความสำคัญของการผังเมือง โดยมุ่งเน้นการพัฒนางานผังเมืองให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) ประกอบด้วย 17 เป้าหมาย ครอบคลุมทั้งมิติเศรษฐกิจ มิติสังคม มิติสิ่งแวดล้อม มิติความมั่นคงและยุติธรรม มิติความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ในประเทศและระหว่างประเทศในการเป็นหุ้นส่วนการพัฒนา

สำหรับการจัดงานในวันนี้กำหนดจัดขึ้นในหัวข้อ Urban Solution for Climate Crisis : เมืองเพื่อการรองรับวิกฤตภูมิอากาศ เนื่องจากปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกได้เกิดภัยพิบัติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ไม่ว่าจะเกิดจากความผันแปรตามธรรมชาติหรือกิจกรรมของมนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ที่ทำให้องค์ประกอบของบรรยากาศเปลี่ยนแปลงไปส่งผลให้เกิดภัยพิบัติต่าง ๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน และผลกระทบไปสู่เมืองที่ประชาชนอาศัยอยู่ การสัมมนาในวันนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนและรับฟังความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญจากภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมาร่วมเสนอแนวคิดและเปิดมุมมองใหม่ ๆ ดังนี้
1. การบรรยาย เรื่อง วิกฤตสภาพภูมิอากาศ (Climate Crisis) โดย ดร.ชลัมภ์ อุ่นอารีย์ นักอุตุนิยมวิทยา กองพัฒนาอุตุนิยมวิทยา กรมอุตุนิยมวิทยา
2. การบรรยาย เรื่อง การผังเมืองเพื่อรองรับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ โดย รศ.ดร.วิจิตรบุษบา มารมย์ หัวหน้าหน่วยวิจัยอนาคตและนโยบายเมือง แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
3. การบรรยาย เรื่อง การออกแบบเมืองเพื่อรองรับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ โดย นายธัชพล สุนทราจารย์ ภูมิสถาปนิก และกรรมการบริหาร LANDSCAPE COLLABORATION LTD
4. เวทีการเสวนา เรื่อง “เทคโนโลยีและการแก้ไขปัญหาที่ชาญฉลาดสู่การเป็นเมืองคาร์บอนต่ำอย่างเท่าเทียมและยั่งยืน” โดยมี ดร.จงรักษ์ ฐินะกุล ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านส่งเสริมและเผยแพร่ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ดร.ชลัมภ์ อุ่นอารีย์ นักอุตุนิยมวิทยา กองพัฒนาอุตุนิยมวิทยา กรมอุตุนิยมวิทยา ผศ.ดร.ชูศักดิ์ จันทร์ปฐมพงศ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาออกแบบสถาปัตยกรรม ผู้ช่วยคณบดี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.จิรโรจน์ ศุกลรัตน์ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม และ รศ.ดร.วิจิตรบุษบา มารมย์ หัวหน้าหน่วยวิจัยอนาคตและนโยบายเมือง แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาร่วมแชร์ประสบการณ์ แลกเปลี่ยนแนวคิด เปิดมุมมองใหม่ ๆ เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนและรับฟังความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญจากภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ในการวางแผนและออกแบบเมือง เพื่อขับเคลื่อนงานด้านการผังเมือง สนองตอบต่อการแก้ไขปัญหาเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ วิธีการปรับตัวภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน รวมทั้งสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ และสามารถบรรลุเป้าหมายของการพัฒนาประเทศได้ โดยมีผู้เข้าร่วมการสัมมนา ณ โรงแรมโกลเด้นทิวลิป ซอฟเฟอริน กรุงเทพมหานคร จำนวนประมาณ 300 คน และสามารถเข้าร่วมผ่านระบบออนไลน์พร้อมกันทั้งในประเทศและต่างประเทศ

กรมโยธาธิการและผังเมืองหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ท่านที่เข้าร่วมการสัมมนาในครั้งนี้ จะได้รับความรู้และมีความเข้าใจงานด้านการผังเมือง และการพัฒนาเมืองมากยิ่งขึ้น จากกิจกรรมต่าง ๆ ในงานที่อัดแน่นด้วยนักวิชาการที่มาร่วมเปิดมุมมองใหม่ ๆ ในการออกแบบเมืองให้มีความพร้อมในทุกมิติ สำหรับเมืองเพื่อการรองรับวิกฤตภูมิอากาศและปรับตัวได้ในสถานการณ์ของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ประชาชนดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข พร้อมก้าวสู่การพัฒนาเมืองที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง