วันที่ 8 พฤศจิกายน 2567 นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนเป้าหมายตามนโยบายนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล ที่มุ่งเป้ายกระดับประเทศไทยสู่ศูนย์กลางอุตสาหกรรม High Technology ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยสู่อนาคตที่ยั่งยืน ได้มอบหมายให้กรมวิทยาศาสตร์บริการ ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักของชาติในการรับรองความสามารถห้องปฏิบัติการของประเทศไทย ทำหน้าที่สนับสนุน ส่งเสริมคุณภาพและความสามารถของหน่วยตรวจสอบและรับรอง พร้อมยกระดับมาตรฐานการจัดการความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการให้สอดคล้องเป็นไปตามมาตรฐานสากลด้านความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการในรูปแบบ Peer Evaluation และให้ดำเนินการอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง
นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 19 – 26 ตุลาคม 2567 ตนได้มอบหมายให้ ดร.พจมาน ท่าจีน รองอธิบดีกรมวิทย์ฯ บริการ ทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจประเมินระดับนานาชาติ ในรูปแบบ Peer Evaluation ให้กับหน่วยรับรองระบบงาน (AB) ณ สหพันธรัฐรัสเซีย โดยการรับรองตามมาตรฐาน ISO/IEC 17025 ดังกล่าวเป็นการยอมรับร่วมกันระหว่างประเทศภายใต้ข้อตกลงการยอมรับร่วม (Mutual Recognition Arrangement: MRA) ขององค์กร ILAC (International Laboratory Accreditation Cooperation) และ IAF (International Accreditation Forum) รวมถึง APAC (Asia Pacific Accreditation Cooperation) ซึ่งทำให้ผลการทดสอบที่ผ่านการรับรองนี้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล กระบวนการตรวจประเมินฯ นี้เรียกว่า Peer Evaluation เป็นการให้ผู้เชี่ยวชาญจากองค์กรที่ให้การรับรองอื่น ๆ มาตรวจสอบและประเมินกระบวนการทำงานของหน่วยรับรอง หรือ Accreditation Body (AB) ว่าเป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่ โดย Peer Evaluation จะช่วยยกระดับความโปร่งใส ความน่าเชื่อถือ และการยอมรับในกระบวนการรับรองในระดับสากล ถือเป็นกลไกสำคัญที่เสริมความเชื่อมั่นให้กับระบบการรับรองตามมาตรฐาน ISO/IEC 17025 และยังเป็นเครื่องมือที่ทำให้การรับรองความสามารถของห้องปฏิบัติการเป็นไปตามมาตรฐานสากลและได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ รวมถึงเดินหน้าสร้างความร่วมมือองค์กรระหว่างประเทศให้มาร่วมตรวจประเมินห้องปฏิบัติการไทย ตามนโยบายของท่านรัฐมนตรีศุภมาส และเป้าหมายของกรมวิทย์ฯบริการ เพื่อให้ “ประเทศไทยมีความสามารถในการตรวจวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์อยู่ในอันดับ 1 ใน 10 ของโลก ภายในปี 2572 และการนำวิทยาศาสตร์สู่การดูแลประชาชน” ได้เร่งขับเคลื่อนนโยบายท่านรัฐมนตรีสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ให้มีการบูรณาการสร้างความร่วมมือห้องปฏิบัติการภายในประเทศ เพื่อช่วยยกระดับมาตรฐานการทดสอบและเพิ่มจำนวนห้องปฏิบัติการทดสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ทั้งนี้ไม่เพียงแต่ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนและผู้ประกอบการ แต่ยังเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการที่มีความเฉพาะและเพียงพอในแต่ละพื้นที่ ทั้งยังมีการสนับสนุนในการพัฒนาเครือข่ายทางวิชาการและห้องปฏิบัติการกับหน่วยงานในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ที่มีความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ห้องปฏิบัติการในด้านต่าง ๆ และเป็นส่วนสำคัญใน “การนำวิทยาศาสตร์สู่การดูและประชาชนได้อย่างยั่งยืน”
#กรมวิทยาศาสตร์บริการ #DSS #กรมวิทย์ฯบริการ #กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม #กระทรวงอว #อว #อุดมศึกษา #วิจัยและนวัตกรรม