สคทช. เผยผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ครั้งที่ 2/2567 “รองนายก ประเสริฐ” ประธาน คทช. เห็นชอบแนวทางแก้ไขความเดือดร้อนของราษฎร ในพื้นที่นิคมลำน้ำน่าน ที่ยืดเยื้อกว่า 55 ปี พร้อม One Map อีก 13 จังหวัด เสนอ ครม. พิจารณา”

วันที่ 7 พฤศจิกายน 2567 เวลา 15.45 น. ว่าที่ร้อยตรี พีรพล มั่นจิตต์ โฆษกประจำสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ เปิดเผยว่า นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ครั้งที่ 2/2567 โดยมี ดร.รวีวรรณ ภูริเดช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พร้อมด้วยผู้บริหาร เจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ เข้าร่วมประชุมฯ ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล

โดยประธาน คทช. ได้มอบนโยบายให้แก่ส่วนราชการดังนี้ 1) นโยบายการจัดที่ดินทำกินโดยให้มุ่งเน้นการพัฒนาอาชีพและรายได้ ให้มีความต่อเนื่องและเพียงพอ 2) ให้ควาสำคัญกับการปรับปรุงแผนที่ One Map 3) สร้างความสมดุลการใช้ประโยชน์ที่ดินกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ 4) บูรณาการการทำงานและข้อมูลด้านที่ดิน และ 5) นำเทคโนโลยีมาใช้ในการทำงาน โดยที่ประชุมมีการหารือเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ทำกินของราษฎร โดยมุ่งเน้นให้ราษฎรมีความมั่นคงในการดำเนินชีวิตสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ เช่น การแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของราษฎร กรณีพื้นที่นิคมสร้างตนเองลำน้ำน่าน จังหวัดอุตรดิตถ์ ที่ราษฎรสละที่ดินเพื่อสร้างเขื่อนสิริกิติ์ทำให้ต้องย้ายไปอยู่ในพื้นที่นิคมสร้างตนเองลำน้ำน่าน ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๑ แต่ได้รับผลกระทบจากแนวเขตที่ดินที่ไม่ชัดเจนกว่า 1,000 ราย ตลอดจนการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของภาครัฐเป็นการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการมาตราส่วน 1 : 4000 (One Map) และแก้ไขปัญหาแนวเขตที่ดินของรัฐ และได้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามกฎหมาย และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง และให้เร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเวลาที่กำหนด

ทั้งนี้ ที่ประชุมมีการเห็นชอบเรื่องที่สำคัญ 4 เรื่องดังนี้

1. แนวทางการปรับปรุงแนวเขตที่ดินของรัฐ เพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของราษฎร กรณีพื้นที่นิคมสร้างตนเองลำน้ำน่าน อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ โดยอาศัยการตัดสินใจเชิงนโยบาย ประกอบกับสภาพการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ มาตรการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการกำหนดแนวเขตที่ดินของรัฐ และแนวทางการแก้ไขปัญหาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนจากการดำเนินงานปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐฯ (One Map)

2. การปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการมาตราส่วน 1 : 4000 (One Map) และแก้ไขปัญหาแนวเขตที่ดินของรัฐของพื้นที่กลุ่มที่ 5 กลุ่มจังหวัดภาคใต้ จำนวน 11 จังหวัด และพื้นที่เร่งด่วนกลุ่มที่ 6 กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่างและภาคตะวันตก จำนวน 2 จังหวัด (จังหวัดกาญจนบุรี และจังหวัดแม่ฮ่องสอน)

3. แนวทางปฏิบัติเพื่อลดขั้นตอน และเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4000 (One Map) โดยขอยกเว้นการปฏิบัติตามมติ ครม. เมื่อวันที่ ๒๘ ก.พ. ๕๕ (เรื่อง การเสนอร่าง พ.รฎ. กําหนดแนวเขตให้เป็นพื้นที่ดําเนินการตามกฎหมาย) และมติ ครม. เมื่อวันที่ ๒๒ มี.ค. ๖๕ (เรื่อง แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับกรณีการตราร่างกฎหมายหรือร่างอนุบัญญัติที่ต้องจัดให้มีแผนที่ท้าย) เฉพาะกรณีการดําเนินการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน ๑ : ๔๐๐๐ (One Map) เท่านั้น เพื่อให้การขับเคลื่อนงานด้านการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐ เกิดประสิทธิภาพจากความซ้ำซ้อนและระยะเวลาดำเนินการ เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการบริหารจัดการที่ดินแก่ประชาชนและหน่วยงานของรัฐ และมีการแต่งตั้งคณะทำงาน CEO One Map เพื่อช่วยสนับสนุนการดำเนินการแก้ไขปรับปรุงแผนที่ One Map ให้รวดเร็วยิ่งขึ้น

4. การช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่อยู่ระหว่างการพิสูจน์สิทธิในที่ดิน พื้นที่นำร่องจังหวัดกาญจนบุรีและแม่ฮ่องสอน ให้สามารถเข้าถึงประปาและไฟฟ้า โดยรัฐบาลได้สั่งการให้คทช. มาดำเนินการ โดยผ่านคณะทำงาน ซึ่งได้มีการสำรวจข้อเท็จจริงในพื้นที่ พร้อมวางแผนการดำเนินงาน โดยคาดว่าจะแก้ไขปัญหาแล้วเสร็จภายใน 10 เดือน