สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ เตือนประชาชนหากถูกแมลงมีพิษกัด เช่น ต่อหัวเสือ แตน ผึ้ง และกลุ่มมดมีพิษ ไม่ควรนิ่งนอนใจ ให้รีบไปพบแพทย์ เพราะอาจเกิดอาการแพ้ชนิดรุนแรงจนถึงแก่ชีวิตได้
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า จากกรณีการเสนอข่าว แม่ค้าส้มตำที่ อ.เมือง จ.พัทลุง ถูกผึ้งต่อยหน้าบวม ถอดเหล็กในออกแล้วไม่ไปโรงพยาบาล สุดท้ายเสียชีวิตนั้น จากข้อมูลดังกล่าว ผู้ป่วยอาจเกิดอาการแพ้ชนิดรุนแรง เป็นปฏิกิริยาทางภูมิแพ้ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วทั่วร่างกาย และอาจมีความรุนแรง จนเป็นอันตรายถึงชีวิต ในประเทศไทย พบ 0.19 คนต่อผู้ป่วยในแสนคน สามารถเป็นซ้ำได้ 1 รายต่อผู้ป่วย 12 รายต่อปี สาเหตุมีได้หลายอย่าง โดยอาหารเป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุด สาเหตุรองลงมา ได้แก่ยาปฏิชีวนะ ถัดมาเกิดจากแมลง โดยมักเกิดจากแมลงตระกูล Hymenoptera ได้แก่ ต่อหัวเสือ แตน ผึ้ง และกลุ่มมดมีพิษ
แพทย์หญิงมิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ความรุนแรงของโรคเป็นมากขึ้น ได้แก่ อายุ (ผู้ใหญ่) โรคประจำตัว ยาที่ใช้อยู่ การแพ้ชนิดรุนแรง (Anaphylaxis) มักเกิดภายในเวลา 5 – 30 นาที ภายหลังการได้รับสิ่งกระตุ้น โดยอาการที่พบบ่อยที่สุด ได้แก่ อาการทางผิวหนัง เป็นลักษณะลมพิษ อาจมีอาการบวมมากที่ผิวหนัง รองลงมาได้แก่ ระบบทางเดินหายใจ ระบบหัวใจและหลอดเลือด
ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง ให้คำแนะนำว่า ในภาวะนี้ ถือเป็นภาวะฉุกเฉิน ต้องรีบส่งต่อผู้ป่วยเข้าสถานบริการทางการแพทย์หรือรถฉุกเฉินโดยด่วนที่สุด ควรจัดผู้ป่วยให้อยู่ในท่านอนหงาย ถ้าสามารถเอาสาเหตุออกได้ (เช่น เอาเหล็กในออก) ก็ควรทำ หากพบในสตรีมีครรภ์ให้จับนอนตะแคงซ้าย ภาวะนี้มีความจำเป็นจะต้องได้ยาฉีดน้ำเกลือ และออกซิเจนอย่างด่วนที่สุด ผู้ป่วยควรจะต้องถูกสังเกตอาการในโรงพยาบาล นอกจากนั้น ควรจะได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาสาเหตุและลดโอกาสเป็นซ้ำสำหรับผู้ป่วยที่เคยเกิดภาวะแพ้รุนแรง (Anaphylaxis) มาก่อน จะต้องมียาฉีดอิพิเนฟริน (Epinephrine) ติดตัวไว้ใช้ยามฉุกเฉิน
#สถาบันโรคผิวหนัง #กรมการแพทย์ #แพทย์ผิวหนังเตือนประชาชนที่ถูกแมลงมีพิษกัดต่อยควรรีบไปพบแพทย์